วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ว่าด้วยตลาดหนังสือลาว

ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางและเวียงจันทร์แบบรู้ตัวแค่ 2 – 3 วันก่อนวันเดินทาง ผมตัดสินใจไปเที่ยวทันทีที่มีน้องคนหนึ่งชวนผมไป เหตุผลลึก ๆ ที่ช่วยให้ผมตัดสินใจอย่างไม่รีรอคือ ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมอยากไปเห็นสักครั้งหนึ่งในชีวิต เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์ และอีกหลาย ๆ ประเทศ

สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมติดตามความเป็นไปของประเทศลาวผ่านหน้าหนังสือ, ภาพยนตร์, เพลง หรือสื่ออื่น ๆ อีกมากมาย แต่นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากภายนอก ผมอยากรู้จริง ๆ ว่า คนลาวมองประเทศของพวกเขาอย่างไรบ้าง ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ผมจึงตัดสินใจไปเที่ยวเพื่อหวังจะได้ไปซื้อหาหนังสือโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารของคนลาว

แต่เมื่อไปถึง ผมพยายามมองหาร้านหนังสือพิมพ์และร้านหนังสือตามท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองที่เจริญสุดขีดของลาวอย่าง เวียงจันทร์และหลวงพระบาง แต่ผมกลับไม่เจอร้านหนังสือเลย สุดท้าย ผมไปได้หนังสือแนวประวัติศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ที่เวียงจันทร์มาแทน ซึ่งหนังสือเหล่านั้นมีราคาแพงมาก แพงในระดับที่ผมต้องตั้งคำถามว่า หรือหนังสือเป็นของหายากที่นั่น และหนังสือเหล่านั้นก็เป็นภาพสะท้อนที่มีต่อลาวในยุคสมัยเก่า ไม่ได้พูดถึงแม่หญิงลาวในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ผมสงสัยได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผมก็ตัดสินใจซื้อมา เพราะมั่นใจว่า ผมคงจะไปหาหนังสือเหล่านี้ที่เมืองไทยหรือบนอเมซอนดอทคอมไม่ได้แน่นอน แม้แต่นิตยสารสองสามเล่มของลาวที่ผมอ่านเจอในสื่อของไทยเขียนถึงนั้น เมื่อไปถึงลาว หนังสือเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่าไปซ่อนอยู่แห่งหนตำบลใด

ผมจึงกลับบ้านพร้อมกับหนังสือประวัติศาสตร์ลาวสองสามเล่มติดมือมา พร้อมกับคำถามที่คาใจว่า คนลาวไม่อ่านหนังสือกันเหรอ

แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 มีนาคม 2552) ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “โอทอง อินคำซู” เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2008 จากประเทศลาว โดยได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” บทสัมภาษณ์ของเขาทำให้คำถามที่คาใจหลาย ๆ คำถามจางหายไป

รางวัลซีไรต์นี้ ทุกปีจะแจกให้กับนักเขียนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 คนจาก 10 ประเทศในกลุ่ม ซึ่งของไทยเรา ปีนี้รางวัลเป็นของรวมเรื่องสั้นชุด “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” ของ วัชระ สัจจะสารสิน เล่มนี้ผมอ่านแล้ว เขียนดีมากจริง ๆ ครับ

กลับมาที่บทสัมภาษณ์ ฮุ่งอะลุน บอกผมว่า เขาทำงานเป็นบรรณาธิการ “วารสารวรรณศิลป์” ของกระทรวงวัฒนธรรมของลาว ซึ่งเป็นวารสารที่พูดถึงวัฒนธรรมในรูปสารคดี โดยมีเรื่องสั้น และกาพย์กลอนปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังพิมพ์หนังสือด้วย
แต่เนื่องจากรัฐบาลลาวมีกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตนิตยสาร โดยนิตยสารในประเทศลาวทั้งหมดเป็นของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กำลังจะมีกฎหมายใหม่ที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถทำนิตยสารได้เช่นกัน

นี่เป็นข่าวดีของผม และช่วยตอบข้อสงสัยของผมว่า จริง ๆ แล้ว ประเทศลาวมีนิตยสารบ้างเหมือนกัน และมีแน่นอน เพียงแต่ว่า ผมหามันไม่เจอเอง

นอกจากนี้ ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า มีองค์กรต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในลาวพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กออกมาด้วย โดยหนังสือสำหรับเด็กปัจจุบันขายดีกว่าหนังสือทั่วไป เพราะเยาวชนลาวกำลังตื่นตัวเรื่องการอ่านมาก

ฮุ่งอะลุน ยังบอกอีกว่า ตัวเลขการอ่านหนังสือของเด็กลาวเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเด็ก ๆ จะอ่านนิทาน เรื่องสั้น ยกตัวอย่างเช่น “กอไผ่พูดได้” ก็เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชนะการประกวดและถูกตีพิมพ์จำหน่าย

นอกจากหนังสือที่ลาวตีพิมพ์เองแล้ว ยังมีการส่งเสริมการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดด้วย ซึ่งก็เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เด็กลาวได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ผ่านตัวหนังสือจากต่างประเทศด้วย

แม้ทางการจะห้ามเอกชนพิมพ์หนังสือขาย แต่ก็อนุญาตให้บุคคลสามารถพิมพ์หนังสือได้ โดยต้องผ่านการตรวจสอบของรัฐบาล และสำนักพิมพ์ของรัฐบาลจะเป็นผู้พิมพ์เอง

ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า ปัจจุบันเด็ก ๆ ชาวลาวก็อ่านหนังสือการ์ตูนเหมือนกัน แต่จะอ่านที่เป็นภาษาไทยมากกว่า เพราะยังไม่มีคนมาลงทุนแปลเป็นภาษาลาวอย่างจริงจัง สำหรับภาษาไทยนี้ คนลาวโดยเฉพาะคนลาวรุ่นใหม่ ๆ จะฟังพูดได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ สำหรับภาษาไทยก็มีตัวอักษรไม่ต่างจากภาษาลาวเท่าไรนัก เพราะผมเองก็พอจะอ่านหนังสือภาษาลาวได้ โดยจับใจความได้เกินแปดสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หนังสือการ์ตูนภาษาไทยในประเทศลาวจึงมีการนำไปขายค่อนข้างมากเช่นกัน แต่ผมก็หาร้านหนังสือการ์ตูนนี้ไม่เจอเหมือนกัน

เมื่อปีกลาย น้องคนที่ชวนไปเที่ยวลาวก็มาเล่าถึงโดราเอมอนเวอร์ชั่นภาษาลาวที่เขาไปเจอในงานสัปดาห์หนังสือมา นี่ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่บอกให้รู้ว่า โดราเอมอนกำลังจะไปอยู่ในหัวใจของเด็กลาวทุก ๆ คน และอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า หนุ่มสาวชาวลาวก็จะมานั่งนึกย้อนอดีตวัยเยาว์กับความฝันที่จะได้เดินทางไปไหนมาไหนด้วยไทม์แมชชีนและคอปเตอร์ไม้ไผ่เหมือนผมในทุกวันนี้

ถ้ามองถึงตลาดหนังสือลาวในประเทศไทยเอง ก็จะเห็นหนังสือของคนลาวตีพิมพ์อยู่เนือง ๆ อย่างหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” ของ ฮุ่งอะลุน นี้ก็จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ก็จะมีหนังสือเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวลาวโดยเฉพาะเมืองเวียงจันทร์, หลวงพระบาง, ลาวใต้ และที่กำลังมาแรงคือ วังเวียง วางขายในท้องตลาดมากขึ้น ๆ

ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า การเป็นนักเขียนในประเทศลาวก็ไส้แห้งเหมือนในประเทศไทย แต่ปัจจุบันถ้าสังเกตกันดี ๆ ประเทศไทยเริ่มมีนักเขียนอาชีพ (แต่เป็นนักเขียนมืออาชีพหรือไม่ ไม่มีความเห็นครับ) มากขึ้นเรื่อย ๆ นักเขียนอาชีพในที่นี้หมายถึง การหาเลี้ยงชีพโดยการเขียนหนังสือเป็นหลัก ซึ่งสำหรับประเทศลาวนั้น ยังเป็นเรื่องยากอยู่ ถ้านักเขียนคนนั้นอยากเลี้ยงลูกเมีย พวกเขาต้องมีอาชีพหลักที่ไม่ใช่อาชีพนักเขียน เช่น อาจจะเป็นข้าราชการ, นักธุรกิจ, แพทย์ หรือ นักบิน การเขียนหนังสือจึงเป็นช่องทางในการระบายอารมณ์ความรู้สึก ที่อาจจะไม่สามารถพูดหรือสื่อออกมาได้โดยตรง แต่ทำได้อ้อม ๆ ผ่านการเขียนหนังสือ หรืออาจจะมองอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อท้องเริ่มอิ่ม เราก็เริ่มมองหาสิทธิ์พื้นฐานส่วนบุคคลหลาย ๆ อย่างที่เราขาดไป เหมือนอย่างคนในกลุ่มอาชีพที่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักธุรกิจ หรือแม้แต่ข้าราชการเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งก็กลับมาเขียนหนังสือ และเรียกร้องสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของพวกเขา

ท่านวิเศษ แสวงศึกษา ซีไรต์ชาวลาวปี 2545 ก็เคยบอกว่า “ข้าพเจ้ามีอยู่ 2 อาชีพ อาชีพหนึ่งที่ข้าพเจ้ารักคือ การขีดการเขียน แต่ว่าอาชีพที่สองคืออาชีพที่คนอื่นบังคับให้ทำ”

ผมเองเคยคิดว่า เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่เคยพูดวลีที่ว่า “แมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้” นั้น เขาอาจจะเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง แต่เขาอาจจะคิดว่า เสรีภาพควรจะเกิดขึ้นกับคนที่อิ่มท้องแล้วเพราะเป็นเสรีภาพที่มีเหตุมีผล เขาเลยคงระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ไว้ และเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวก่อน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มตัว ประชาชนเริ่มอิ่มท้อง ความคิดเรื่องการเรียกร้องสิทธิ์ส่วนบุคคลหลาย ๆ อย่างก็จะกลับมา และจะเป็นการเรียกร้องอย่างเข้าใจผ่านการเรียนรู้เศรษฐกิจเสรีแล้วนั่นเอง เพียงแต่ว่า เหล่าผู้กุมอำนาจในรัฐบาลจีนจะใจกว้างพอที่จะคืนอำนาจเหล่านั้นให้กับประชาชนได้หรือไม่

จะว่าไป คนลาวก็บ้าหนังสือรางวัลซีไรต์เหมือนคนไทย เพราะ ฮุ่งอะลุน บอกว่ายอดขายของหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์จะอยู่ในระดับแถวหน้า รางวัลซีไรต์จึงอาจจะเป็นใบเบิกทางและเป็นการเปิดโลกการอ่านให้กับคนลาวทั้งประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

พูดถึงตลาดหนังสือของประเทศลาวแล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงตลาดหนังสือไทยสมัยก่อน ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ต่างจากตลาดหนังสือของลาวเท่าไรนัก รอเพียงสังคมพร้อมจะเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง สังคมอุดมปัญญาก็คงเกิดขึ้นในสังคมลาวอย่างแน่นอน

ไม่นานนับจากนี้


ป.ล. ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์ “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล ข้ามโขงมาเล่าเรื่อง... ซีไรต์ลาว 2008” ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552 หน้า 17 – 18

วันศุกร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

before valentine

ก่อนวันวาเลน์ไทน์ คุณทำอะไรกันครับ

บางคนไปเตะบอล บ้างก็ไปดูหนัง ซื้อหนังสือ นักเศรษฐศาสตร์ก็มานั่งวิเคราะห์อุปสงค์อุปทานของดอกกุหลาบที่ปากคลองตลาด เพื่อนผู้หญิงบางคนที่คบกับแฟนมานานพอสมควรก็หาวิธีทำให้แฟนหนุ่มของตนเห็นความสำคัญของวันนี้และคิดจะส่งดอกกุหลาบให้เธอ เพื่อนบางคนที่แฟนไม่ให้ความสำคัญกับวันนี้ก็มานั่งบ่นน้อยใจ บางคนก็พูดไปเลยว่า จะมาให้ความสำคัญทำไมกับแค่วันวันเดียว คนเราจะรักกันก็ต้องรักกันทุกวัน

ว่ากันตามตรง ผมชอบวันวาเลนไทน์มาก เพราะเป็นวันที่ทำให้ผมสามารถให้ดอกไม้แฟนผมได้โดยมีข้ออ้างเรื่องวันวาเลนไทน์ ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้ดอกไม้เธอทุกวัน ผมคิดว่า ผู้หญิงเกือบทุกคนชอบดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ชนิดไหนก็ตาม

ผมคิดว่า ช่วงเวลาก่อนวันวาเลนไทน์สำคัญพอ ๆ กับวันวาเลนไทน์ เพราะวันวาเลนไทน์เป็นวันอันเกิดจากผลของการคิด วางแผน เตรียมการ เพื่อจะทำให้วันวาเลนไทน์สำคัญและมีความหมายมากขึ้น

วาเลนไทน์แรก ๆ ของแต่ละคน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า วาเลนไทน์แรกกับแฟนแต่ละคนจะสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้เราได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการต้องมานั่งวิเคราะห์พฤติกรรมของแฟนเราว่า เค้าให้ความสำคัญกับวันนี้มากน้อยแค่ไหน เราจะต้องทำอะไรบ้างในวันนี้ พวกเราจะนั่งคิด วางแผน และเตรียมการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง

วาเลนไทน์ของผมนั้น โดยมากผมจะเลือกซื้อดอกกุหลาบจากร้านดอกไม้ใกล้ ๆ ที่ทำงาน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อดอกกุหลาบนั้น ผมนั่งคิดมาหลายวันว่า ผมควรจะซื้อดอกกุหลาบกี่ดอก สีอะไรดี ควรจัดเป็นช่อไหม หรือให้เดี่ยว ๆ ก้านควรยาวแค่ไหน จะให้เธอตอนไหน ควรซ่อนดอกไม้ไว้ข้างหลังก่อนไหม หรือฝากคนส่งดอกไม้ไปให้ดี อาจจะส่งทางไปรษณีย์ เอาไปให้ตอนเช้าก่อนเริ่มงาน หรือนัดมาทานข้าวตอนเย็นแล้วให้ระหว่างทานอาหารดี จะให้ด้วยท่าไหน ยื่นให้ พูดประโยคทองก่อนให้ คุกเข่าให้ หรือหลอกให้เธอไปห้องน้ำแล้วแอบวางไว้บนโต๊ะ พอเธอกลับมาก็จะเห็น เมื่อเธอเห็นแล้ว ผมควรจะพูดอะไรดี จะหัวเราะแก้เก้อ จะพูดโน่นนี่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ถ้าเธอน้ำตาคลอผมจะทำยังไง จะยื่นกระดาษให้หรือเป็นผ้าเช็ดหน้าส่วนตัวดี ถ้าเป็นผ้าเช็ดหน้าก็จะต้องเตรียมผ้าเช็ดหน้าเนื้อนุ่มที่จะไม่ทำให้เธอระคายเคืองบนใบหน้าไว้ล่วงหน้า ผมจะคุมสถานการณ์หลังจากดอกไม้ไปอยู่ในมือเธออย่างไรดี ถ้าเธอเอาแต่จ้องดอกไม้ไม่สบตาผมล่ะ ผมจะหาเรื่องอะไรมาทำให้เธอปลาบปลื้มในดอกไม้และตัวผมได้ในเวลาเดียวกัน ไปจนถึงเวลาที่ต้องไปส่งเธอที่บ้าน ผมจะจากลาด้วยประโยคไหนดีที่ทำให้เธอนั่งมองดอกไม้จนหลับไปในคืนนั้น

เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ ผมก็ต้องทำตามแผนที่วางไว้ทุกอย่าง แผนจะดำเนินไปอย่างเนิบ เรียบ ง่าย และมาตกม้าตายตอนจังหวะยื่นดอกไม้ทุกครั้งไป ผมยอมรับว่า ตอนที่ยื่นดอกไม้ให้เธอตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันมือยังสั่น ไม่กล้ามองหน้า พูดโน่นนี่ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แสร้งเป็นไม่มองดอกไม้ และแอบชำเลืองดูว่าเธอจับดอกไม้ในลักษณะไหน ปลื้มใจกับมันมากไหม

แม้ผมจะเริ่มต้นวาเลนไทน์แบบวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างวางแผน ควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แต่สุดท้ายแล้ว อารมณ์และความรู้สึกจะเป็นตัวเดินเกมวันวาเลนไทน์ทั้งหมด และผมก็ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์และความรู้สึกนั้น

กระบวนการคิดเหล่านี้จะอาศัยฐานข้อมูลจากปีก่อนหน้ารวมถึงพฤติกรรมตลอดทั้งปีประกอบด้วยทุกครั้ง ซึ่งผมก็มานั่งทบทวนและวางแผนใหม่ทุกปี ทำไมน่ะหรือ ก็อย่างที่เรารู้ ๆ กัน ผู้หญิงเข้าใจยากมาก

ปีนี้ แฟนผมไม่อยู่กรุงเทพฯ ผมคงยังไม่มีโอกาสให้ดอกไม้เธอในวันวาเลนไทน์ ผมคิดว่าจะส่งข้อความที่สื่อความรู้สึกดี ๆ ไปให้แทนดอกไม้ก่อน แล้วเมื่อเธอกลับมา ผมก็จะหาดอกกุหลาบสวย ๆ ไปให้เธอ

ดอกกุหลาบหลังวันวาเลนไทน์จัดช่อสวย ๆ ยังไงราคาก็ถูกกว่าวันจริงมาก

แต่ความรู้สึกยังเหมือนเดิม

แล้วคุณล่ะ จะทำอะไรกัน

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

รักแรก

วันก่อนเซ็งคนที่ทำงานมาก ออนเอ็มขึ้นมาเจอน้องใจถามว่า “จำหน้าตารักแรกได้ไหมคะ”

ผมเพิ่งมานั่งนึกหลังจากน้องเค้าออฟไลน์ไปแล้วว่า จริง ๆ มันมีความรักเล็ก ๆ ของผมแอบซ่อนอยู่สมัยเรียนชั้นประถม

สมัยประถม ผมเรียนอยู่โรงเรียนแบบสหศึกษา คือ มีทั้งนักเรียนชายและหญิงเรียนในโรงเรียนเดียวกัน ผมเรียนโรงเรียนแสงอรุณ ใกล้ ๆ วัดกัลยาณ์ สมัยนั้นที่ยังไม่มีถนนตัดใหม่ผ่านหลังโรงเรียนเหมือนในปัจจุบัน ทุก ๆ เย็นผมจะเดินไปส่งเพื่อนกลับบ้านโดยการขึ้นเรือพายข้ามคลองไปทางวัดอรุณ ก่อนจะกลับมานั่งรอรถโรงเรียนไปส่งกลับบ้าน

โรงเรียนของผมแบ่งห้องเป็น ก ไก่ ข ไข่ ไปเรื่อย ๆ จนถึง ฉ ฉิ่ง หรือ จ จาน ห้อง ก ไก่ จะเป็นหญิงล้วน ห้อง ข ไข่ และ ค ควาย จะเป็นชายล้วน ง งู และไปจนถึงห้องสุดท้ายจะเป็นชายหญิงปะปนกัน

ผมเรียนห้อง ข ไข่ ซึ่งเป็นห้องชายล้วน ทำให้ถึงแม้ผมจะอยู่โรงเรียนสหศึกษา แต่ก็เหมือนอยู่โรงเรียนชายล้วนตั้งแต่เด็ก เพราะเพื่อน ๆ ที่เล่นกันอยู่ทุกวันก็เป็นเพื่อนเพศชายทั้งนั้น

ตามธรรมเนียม ห้อง ก ไก่ จะเป็นเด็กผู้หญิงที่เรียนเก่ง ส่วนห้อง ข ไข่ และ ค ควาย ก็เป็นห้องของเด็กผู้ชายที่เรียนเก่ง นั่นทำให้เป็นเรื่องปกติสามัญที่พวกเด็ก ๆ ในห้องเหล่านี้จะแอบ ๆ ชำเลืองตามองกันและกันและเขม่นกันอยู่ในที

เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่ง เค้าไม่ค่อยสนใจการเรียน แต่เค้าเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก เค้าเป็นคนเดียวในห้องที่สนิทกับคนต่างห้องไปทั่ว รวมถึงเด็กผู้หญิงในห้อง ก ไก่ด้วย แล้วเค้าก็คอยจับคู่เด็กผู้หญิงในห้อง ก ไก่ กับ เด็กผู้ชายในห้อง ข ไข่ ให้เสมอ

แน่นอนว่า เค้าไม่ลืมหาแฟนให้เพื่อนสนิทอย่างผมด้วย

ถ้าผมมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตในอีกสัก 10 ปีต่อมาได้ ผมอาจจะดีใจที่เพื่อนผมจับคู่ผมกับเด็กผู้หญิงคนนั้น เธอเป็นเด็กสาวผิวขาว ตาโต ผมสีน้ำตาลออกทอง ๆ สูงโปร่ง สูงกว่าผมด้วย เพราะเด็กผู้หญิงจะโตเร็วกว่าเด็กผู้ชายในสมัยประถมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เธออาจจะเป็นเด็กลูกครึ่งรุ่นแรก ๆ ในเมืองไทยที่พร้อมออกมาเดินสู้ในสังคมอย่างไม่เกรงกลัวสายตาใคร ซึ่งไม่กี่ปีต่อมา กระแสเด็กลูกครึ่งก็พุ่งขึ้นสูงและกลายเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของวงการบันเทิงไทย

เพื่อนผมอุปโลกย์เธอให้มาเป็นแฟนผม และล้อมันเข้าไปทุกวัน รวมถึงบอกเพื่อน ๆ อีกหลาย ๆ คนว่าเราเป็นแฟนกันด้วย เช่นเดียวกับไปบอกเพื่อน ๆ ในห้อง ก ไก่ ว่าเราชอบกัน

ในสมัยผมเป็นเด็กนั้น ผมยังไม่แก่แดดถึงขนาดรู้สึกในเรื่องความสวยหรือความน่ารัก มีแต่ความสนุกกับความน่าเบื่อเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผมและทำให้ผมอยากเล่นกับเพื่อนหรือหนีไปแอบนั่งเงียบ ๆ คนเดียว

เธอในสายตาผมจึงเป็นเพียงเด็กผู้หญิงห้อง ก ไก่ ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเพื่อนล้อหนักขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลาปีกว่า ผมก็คิดว่า เราเป็นแฟนกันจริง ๆ เธอจะโดดเด่นขึ้นมาในหมู่เด็กผู้หญิงห้อง ก ไก่ ทุกครั้งที่เดินผ่านกลุ่มเด็กผู้หญิงที่วิ่งเล่นกันอยู่ในสนาม

ผมคิดของผมไปแบบนี้ จินตนาการไปมากมาย จนวันหนึ่ง ผมต้องเอาหนังสือไปส่งคุณครูประจำชั้นห้อง ก ไก่ ผมคิดว่า เด็กผู้หญิงในห้อง ก ไก่ จะต้องมองผมและแอบหัวเราะกันสนุกสนานแน่ ๆ แล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นจะวางตัวอย่างไร ผมจะทำยังไงดี ผมเดินก้มหน้างุด ๆ เอาหนังสือไปส่งคุณครู พูดคุยเล็กน้อย ก่อนจะหันหลังกลับห้องตัวเองโดยไม่หันไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในห้อง ก ไก่ ในวันนั้น

จากวันนั้น ก็เหมือนมีกำแพงหนาทึบกั้นระหว่างผมกับเธอเกิดขึ้น ผมยังคงเห็นเธอโดดเด่นอยู่ท่ามกลางเพื่อนนักเรียนห้อง ก ไก่ แต่เธอจะเห็นผมหรือเปล่านี่ ไม่แน่ใจครับ แต่ทุกครั้งที่สายตาเธอมาปะทะกับสายตาของผม ผมก็ก้มหน้างุด และทำเหมือนไม่มีตัวตนในที่แห่งนั้นไป

รักครั้งแรก แม้หลาย ๆ คนจะมองว่าเป็นปั๊บปี้เลิฟ แต่ความรักสวยงามเสมอครับ ไม่ว่าจะเป็นรักแรก รักสอง รักสาม หรือ รักครั้งที่เจ็ดร้อยเก้าสิบแปด อย่างไรก็ดี พวกเรามักจะได้ยินแต่ประโยคที่ว่า “...แล้วเจ้าชายและเจ้าหญิงก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข” โดยที่ไม่ค่อยเคยฟังเรื่องราวหลังการอยู่ด้วยกันของเจ้าชายและเจ้าหญิง เจ้าหญิงอาจจะต้องคอยรำคาญเสียงกรนของเจ้าชาย เจ้าชายอาจจะต้องเหนื่อยหน่ายกับความเจ้ากี้เจ้าการของเจ้าหญิง เจ้าหญิงต้องระแวงกับความเจ้าชู้ไม่จบไม่สิ้นของเจ้าชาย และสุดท้าย เจ้าชายอาจจะขอหย่ากับเจ้าหญิงเพื่อไปครองรักกับเพื่อนเจ้าหญิง

แล้วรักแรกนั้นก็จะถูกเก็บฝังอยู่ในก้นบึ้งล่างสุดของหัวใจ พร้อมที่จะถูกหยิบฉวยขึ้นมานั่งลูบไล้อย่างทะนุถนอมทุกครั้งที่บาดเจ็บกับความรักครั้งใหม่มา

หลังจากนั้น ผมก็สอบเข้าเรียนต่อชั้น มอหนึ่ง ที่โรงเรียนสวนกุหลาบได้ ส่วนเธอคนนั้นหายไปกับเสียงยินดีของพ่อแม่ของผม และผมก็ใช้ชีวิตจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้นึกถึงเธออีกเลย ผมลืมแม้กระทั่งชื่อของเธอ

ถ้าเธออ่านอยู่ ผมก็อยากรู้ว่า ตอนนี้เธอทำอะไรอยู่ เธอจะกลายมาเป็นดาราในวงการบันเทิงหรือเปล่า หรือเธออาจจะเลี้ยงลูกอยู่บ้านกับสามีและครอบครัวที่อบอุ่น

ผมอยากรู้จริง ๆ

วันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ช่างแพท

เวลาไหนของชีวิตที่คุณรู้สึกว่าขาดความมั่นใจที่สุดครับ

สำหรับผม มันเกิดขึ้นทุก ๆ ครั้งที่ผมไปตัดผม แต่ผมขอรับรองว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องทรงผมแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องของสองสามปัจจัยประกอบกันต่างหาก

หนึ่ง การที่ผมต้องถอดแว่นตา ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของความไม่มั่นใจนี้ เพราะเมื่อใดที่ผมไม่ได้ใส่แว่น ผมจะมองเห็นชัดที่สุดในระยะหนึ่งฝ่ามือเท่านั้น และการตัดผมซึ่งต้องอาศัยการมองกระจกซึ่งโดยมากจะเป็นกระจกบานใหญ่อยู่ตรงหน้า แน่นอนว่า มันอยู่ห่างออกไปในระยะเกินหนึ่งฝ่ามือ และต้องไม่ลืมว่า ภาพที่สะท้อนในกระจกก็จะอยู่ถอยห่างเข้าไปเท่ากับระยะห่างของตัวผมกับกระจกเช่นกัน นั่นหมายความว่า ผมไม่สามารถมองเห็นตัวเองได้อย่างแน่นอนเพราะมันห่างออกไปอย่างน้อยก็มากกว่าสองเท่าของหนึ่งฝ่ามือ ระยะห่างขนาดนี้ก็ทำให้ผมไม่เคยเห็นหน้าตาตัวเองพร้อมทรงผมใหม่ตราบใดที่การตัดยังไม่สิ้นสุด ซึ่งขาแว่นตาก็ยังไม่มาวางอยู่บนก้านหูทั้งสองข้างของผม

สอง ผมเป็นคนเงียบ ๆ เฉย ๆ โดยเฉพาะยามที่ต้องอยู่กับคนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่ แม้รู้จักกันมากแค่ไหน ยิ่งในยามที่ผมต้องตัดผม ผมก็ยิ่งคงพฤติกรรมแบบเดิม ๆ ที่ผมพยายามมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการตัดผม แม้ตัวผมเองจะไม่มีส่วนในกระบวนการตัดยกเว้นการขยับหัวซ้ายขวาไปตามความต้องการของช่างตัดผมในแต่ละเวลา แต่ผมเองก็ไม่อยากไปทำให้ช่างเค้าเสียสมาธิ เพราะจะส่งผลต่อผมบนหัวแน่นอน เมื่อรวมกับพฤติกรรมแบบเงียบ ๆ เฉย ๆ พอเข้าร้านตัดผม ผมก็กลายเป็นก้อนหินที่มีผมขึ้น เหมือนไม่มีตัวตน แต่ขยับได้

ผมจำได้ว่า ผมไปตัดผมครั้งแรก ประมาณ 2 – 3 ขวบ แม่พาผมไปตัดที่ร้านตัดผมแถวบ้าน มันเป็นร้านตัดผมผู้ชายแบบที่มีหลอดไฟลายเส้นหมุนวนรอบตัวเองแบบไม่มีวันจบสิ้นติดอยู่หน้าร้าน ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ช่างตัดผมต้องเอาเก้าอี้เสริมมาให้ผมนั่ง แล้วกระบวนการตัดก็เริ่มขึ้นโดยการเอาผ้ามาคลุมตัวผม เหลือไว้แต่หัว เมื่อแบตเตอร์เรี่ยนเริ่มไถ ผมก็เริ่มจินตนาการว่า ผมส่วนไหนของผมหลุดออกไปจากหัวของผมบ้าง ตอนอนุบาล ทรงผมยังเป็นแบบรองทรงอยู่ แต่พอขึ้นชั้นประถม จนถึงมัธยมปลาย ก็มีแต่ทรงนักเรียนหัวเกรียนเท่านั้นที่เป็นไปได้

ผมไม่ใช่เด็กเกเร และผมไม่ค่อยสนใจทรงผมเท่าไรนัก ผมเลยไม่เคยมีปัญหากับอาจารย์ฝ่ายปกครองเกี่ยวกับเรื่องทรงผมเลยสักครั้ง

ผมตัดกับช่างคนเดิมสมัยเด็กจนกระทั่งผมเข้ามหาวิทยาลัย ผมคุยกับช่างตัดผมคนนี้ประมาณหนึ่งถึงสองประโยคในแต่ละครั้งที่ไปตัดผม โดยที่ในหนึ่งถึงสองประโยคนั้นแทบจะไม่มีเรื่องอื่นยกเว้นเรื่องทรงผมว่ามันควรจะเป็นรองทรงหรือทรงนักเรียน ซึ่งจะเป็นทรงไหนก็ขึ้นกับว่าผมปิดเทอมหรือกำลังเรียนอยู่ แต่บางครั้งก็ไม่มีบทสนทนาใด ๆ ยกเว้นความเงียบและความเข้าใจของช่างตัดผมไปในตัวว่าควรจะเป็นทรงไหน ผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการตัดผมของช่างเลยแม้สักครั้ง ซึ่งเหตุผลหลักคือผมมองไม่เห็นทรงผมของผมเองและอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมเชื่อว่า ช่างมีความรู้เรื่องทรงผมมากกว่าผมหลายร้อยหลายพันเท่า ช่างจะทำให้ทรงผมเข้ากับหน้าและหัวของผมได้มากกว่าที่ผมจะไปเสนอแนะสิ่งที่ผมไม่รู้ ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเราคุยกันนานขึ้น หลายประโยคขึ้น ในตอนที่ผมเพิ่งสอบเข้าเรียนชั้นมัธยมต้นได้ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่จากนั้น บทสนทนาของเราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเรื่องทรงผมและทรงผม

ช่างตัดผมของผมนั้นเขาหวีผมเรียบแปล้ ใส่ชุดเสื้อแขนยาวแบบพนักงานออฟฟิศ หรือบางครั้งก็เป็นชุดโปโลแต่ดูเรียบร้อยตลอดเวลา ผมเคยตัดกับช่างคนอื่นบ้างประมาณหนึ่งหรือสองครั้ง แต่ทุกคนในร้านจะรู้ว่าผมผูกขาดอยู่กับช่างคนนี้เท่านั้น ถ้าสถานการณ์ไม่เลวร้ายจริง ๆ ผมก็จะได้ตัดกับช่างประจำของผม

เมื่อผมเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปีที่สอง ผมก็ต้องย้ายบ้านไปอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่ง เหตุการณ์นั้นทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับการตัดผมที่ร้านเดิม และช่างคนเดิมสิ้นสุดลง ผมตระเวนเปลี่ยนร้านตัดผมเป็นว่าเล่น ตั้งแต่ร้านตัดผมชายร้านเล็กในซอยเดียวกับที่บ้านใหม่ของผมตั้งอยู่ ร้านตัดผมที่ฝั่งตรงข้ามซอย ร้านทำผมผู้หญิงที่แม่ผมไปใช้บริการหลายต่อหลายร้าน

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ร้าน ผมก็ยังคงคงบทสนทนากับช่างตัดผมไว้ได้ที่หนึ่งถึงสองประโยคซึ่งเกี่ยวพันกับทรงผมเท่านั้น

จากการที่ผมต้องถอดแว่น นั่นทำให้ผมไม่สามารถทำอะไรได้ในขณะที่ตัดผมอยู่ นอกจากการมองกระจกพร่ามัวตรงหน้า และจินตนาการถึงเส้นผมที่หลุดร่วงไป บวกกับการที่ผมนิ่ง ๆ เฉย ๆ และพยายามไม่พูดคุยขณะตัดผม บางครั้งผมก็หลับไปขณะตัดผม ผมจึงเรียนรู้ว่า ขณะตัดผมจะไม่มีกระบวนการของการสนทนาเกิดขึ้นและผมจะไม่ทำอะไรนอกจากรอให้กระบวนการตัดผมสิ้นสุดลง ซึ่งมันเป็นแบบนี้มากว่า 20 ปีแล้ว การกระทำใด ๆ ที่ทำให้ผมต้องมีกริยามากกว่านั้นจะทำให้ผมทำได้อย่างไม่มั่นใจนัก

อย่างไรก็ตาม ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา ผมได้รับคำแนะนำจากน้องคนหนึ่งที่มีความทันสมัยทางด้านทรงผมเหนือกว่าผมหลายก้าว เธอแนะนำให้ผมไปตัดที่ร้านแถวสยาม ร้านที่เต็มไปด้วยวัยรุ่นที่มาตัดผมทรงเดียวกับดารานักร้องชื่อดังในขณะเวลานั้น ๆ ผมเข้าวงการร้านตัดผมวัยรุ่นนี้ในวันที่กอล์ฟ – ไมค์กำลังดังสุดขีด แน่นอนว่า วัยรุ่นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เดินออกจากร้านนั้นด้วยทรงผมของกอล์ฟ – ไมค์

ผมมั่นใจว่า ทรงผมกอล์ฟ – ไมค์ไม่เหมาะกับผมอย่างแน่นอน รวมถึงทรงผมวัยรุ่นอีกมากมายหลายสิบแบบ

พี่มัส ช่างผมผู้ทิ้งความทรงจำของความเป็นชายไว้กับอดีต คุยกับผมสองสามประโยคและกับน้องคนนั้นอีกสองสามประโยค ก่อนจะเนรมิตทรงผมใหม่ให้ผม แน่นอนว่า ผมไม่มีโอกาสจะคัดค้านหรือสนับสนุนใด ๆ นอกจากการได้เห็นผลลัพธ์ในตอนท้าย แต่อย่างที่บอกไป ผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับทรงผมนัก นอกจากการต้องมาตอบคำถามที่เกิดขึ้นกับสายตาของคนรอบข้างในช่วงระยะ 2 – 3 วันแรก ก่อนที่พวกเขาจะชินตากับทรงผมใหม่ของผม

พี่มัสก็เหมือนกับช่างตัดผมสมัยเด็กของผม เขาไม่ค่อยพูดนอกจากยิ้มน้อย ๆ ที่มุมปาก และบทสนทนาที่วนอยู่กับทรงผมว่าควรจะสั้นมากหรือยาวน้อย แต่ไม่มียาวมาก ในช่วงแรก ๆ ผมเข้าใจว่า เค้าพยายามชวนคุยเรื่องโน่นนี่ แต่ผมยังคงยึดคติเดิมคือ เงียบ นิ่ง และหลับ ทำให้เขาเงียบ นิ่ง และตัด หลังจากไปตัดกับพี่มัสได้สองสามครั้ง เขาก็จำได้และรับรู้ว่า ระหว่างตัดผมจะไม่มีบทสนทนาใด ๆ หลุดออกมา ถ้ากรรไกรไม่ตัดโดนใบหูไปเสียก่อน

ล่าสุด พี่มัสย้ายไปสร้างชื่อเสียงให้กับสาขาใหม่ของทางร้านที่ไปเปิดที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ผมเคว้งพอสมควรเพราะผมรู้จักเค้าคนเดียวในร้าน แต่ทางร้านก็ส่งผมต่อมาให้กับช่างแพท

ช่างแพทเป็นช่างตัดผมผู้หญิง (ผมไม่แน่ใจนักในตอนแรกว่าเธอเป็นหญิงแท้หรือหญิงเทียม บวกกับเสียงแหบ ๆ ก็ทำให้ผมไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ แต่จากความรู้สึกส่วนตัวเค้าน่าจะเป็นหญิงมากกว่า) ที่สำคัญ เธอเป็นช่างตัดผมที่เป็นผู้หญิงคนที่สามในชีวิต สองคนแรกเป็นช่างที่ร้านทำผมที่แม่ผมไปตัดก่อนหน้านี้ ผมเพิ่งตัดกับเธอได้สองครั้งเท่านั้น เธอก็เหมือนพี่มัสและช่างทำผมตามร้านตัดผมวัยรุ่นทันสมัยทั่ว ๆ ไปที่จะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดีกับลูกค้า หาเรื่องมาคุยโน่นนี่กับลูกค้า และบริการสุดใจเท่าที่จะทำได้

เธอจึงพยายามคุยกับผม คำถามแรกจะเริ่มต้นว่ามาทำอะไรแถวนี้ ซึ่งผมก็จะตอบเหมือนกันทุกครั้งว่ามาพารากอน ทั้ง ๆ ที่ผมอยากจะตอบว่ามาตัดผม แต่อย่างที่บอก ผมมองไม่เห็นอะไร ผมขาดความมั่นใจ และผมยังคงยึดธรรมเนียมเก่า ๆ ของการตัดผมตลอดมาว่าจะต้องเงียบ นิ่ง รวมถึงหลับ ซึ่งผมก็หวังว่าวันหนึ่งเธอจะเข้าใจธรรมเนียมนี้

ที่สำคัญ ผมไม่ค่อยอยากเปลี่ยนช่างตัดผมบ่อยครั้งนัก เพราะผมไม่อยากเริ่มต้นใหม่ ดูแบบทรงผมใหม่ ทั้ง ๆ ที่มันมีแค่ไม่กี่ทรงที่เข้ากับตัวผม และผมก็ไม่อยากเพิ่มบทสนทนาใด ๆ ไปมากกว่านี้อีกด้วย

วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

Cape Diem – Seize The Day – จงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้

เคยตกอยู่ในสถานการณ์นี้ไหมครับ

คุณกำลังสองจิตสองใจระหว่าง จะทำหรือไม่ทำ

ผมเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้บ่อยครั้งมาก ผมกำลังตัดสินใจว่าจะวิ่งไปขึ้นรถเมล์ที่จอดเลยป้ายไปไกลดีไหม ผมชั่งใจว่าจะคุยกับผู้หญิงที่รู้สึกดีด้วยซึ่งเดินผ่านหน้ากันที่ห้างสรรพสินค้าดีหรือเปล่า ผมคิดกลับไปกลับมาว่าจะยอมรับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมสร้างขึ้นหรือผ่านเลยไปดี

หลาย ๆ ครั้ง ผมตัดสินใจทำไป เดินหน้าลุยไปในสถานการณ์สองจิตสองใจ แต่อีกหลาย ๆ ครั้งผมก็คิดมากไปทำให้ยังต้องกลับมาคิดจนถึงทุกวันนี้ว่า ถ้าผมตัดสินใจทำไปจะเกิดอะไรขึ้น

เคยดูหนังเรื่อง Sliding Door ไหมครับ มันเป็นเรื่องของการช้าหรือเร็วไปเพียงชั่ววินาทีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตที่เหลืออยู่ของนางเอกในเรื่อง ในหนังฉายให้เห็นถึงสองสถานการณ์ สถานการณ์แรกนางเอกขึ้นรถไฟทันก่อนที่ประตูรถไฟจะปิด ทำให้เธอไปทำงานไม่สาย และใช้ชีวิตไปอย่างเรื่อย ๆ โดยไม่รู้อะไรต่าง ๆ นานาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังชีวิตคู่ที่แสนสวย แต่อีกสถานการณ์หนึ่ง นางเอกของเรื่องขึ้นรถไฟไม่ทัน เธอไปทำงานไม่ทัน เธอหัวเสีย และเธอตัดสินใจกลับบ้าน เมื่อถึงบ้าน สิ่งที่เธอเห็นคือ แฟนหนุ่มของเธอกำลังเริงรักอยู่กับชู้ หรือ กิ๊กที่เราชอบเรียกกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของชีวิตคู่ของเธอ

ถ้าเป็นคุณ คุณคิดว่า คุณเลือกที่จะไปทำงานทันแล้วไม่รู้อะไรในชีวิต แต่คุณยังสามารถใช้ชีวิตคู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข หรือคุณจะเลือกที่จะไม่ไปทำงานแล้วต้องสูญเสียชีวิตรักไปด้วย

ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจและคาบเกี่ยวเช่นนี้ หลาย ๆ ครั้งผมก็ตัดสินใจถูกที่จะเดินหน้าต่อไป และหลาย ๆ ครั้งผมก็คิดว่า ผมน่าจะเหยียบเบรกชีวิตบ้าง

มีคำปลอบใจที่ว่า ทำแล้วเสียใจดีกว่าเสียใจที่ไม่ได้ทำ รวมถึงการที่ไม่ต้องมาตั้งคำถามในอีก 40 – 50 ปีข้างหน้าว่า ถ้าวันนั้นเราตัดสินใจทำไปชีวิตจะเป็นอย่างไรอีก

แต่หลายครั้งเช่นกัน โอกาสนั้นหวนกลับคืนมาให้เราตัดสินใจใหม่ หลายครั้งเราก็ยังตัดสินใจเหมือนเดิม และหลายครั้งเราก็ได้แก้ตัวกับความผิดพลาดในอดีต

ผมเคยนั่งอ่านบทวิจารณ์หนังสือเล่มหนึ่งแล้ว ผมอยากอ่านมันมาก แต่แล้วผมก็ไม่ได้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้ รวมถึงไม่ได้จดชื่อหนังสือ เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ตกตะกอนอยู่ในใจเป็นเวลาห้าถึงหกปีโดยที่ผมทำอะไรไม่ได้เพราะไม่รู้จะไปอธิบายให้ใครฟังได้อย่างไรว่าต้องการหนังสือเล่มนี้ เมื่อผมนึกถึงครั้งใดก็ยังเสียใจที่ไม่ได้จดชื่อหนังสือเล่มนั้นไว้ แล้ววันหนึ่ง ร้านหนังสือ Asia Books ก็เอาหนังสือมาลดราคาในช่วงสิ้นปี ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญ มันวางอยู่เดี่ยว ๆ เล่มเดียวในกองหนังสือมากมายมหาศาล ผมยื่นมือไปหยิบมันขึ้น แล้วความทรงจำในคืนหนึ่งที่ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในคาสิโนก็ผุดขึ้นมา หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นพูดถึง The Memory of Running

นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องราวยิ่งใหญ่มโหฬาร แต่มันเป็นตะกอนที่กวนให้ใจผมหวนคิดคำนึงถึงมันเป็นเวลาหลายปี

ใช่ครับ โอกาสที่หวนกลับมาให้แก้ตัวของผมครั้งนี้ ผมไม่ปล่อยมันให้หลุดลอยไปอีก

เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โอกาสที่หวนกลับมาให้ผมแก้ตัว และผมกัดมันไม่ปล่อย

คนรักที่หวนคืนมา หน้าที่การงานที่เข้ากับตัวผม และการขีดเขียนหนังสือ

จงฉกฉวยวันเวลานั้นเอาไว้ครับ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่า คุณจะมีโอกาสได้ฉกฉวยมันอีกหรือเปล่า ในชั่วชีวิตที่เหลือ

หมายเหตุ: Carpe diem หรือ คา – เพ – เดียม เป็นวลีจากบทกวีในภาษาลาติน ซึ่งมักจะแปลว่า Seize the day หรือ จงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ โดย Horace ซึ่งเป็นผู้แต่งบทกวีนั้นใช้คำนี้ในความหมายของการให้ฉกฉวยช่วงเวลาที่ดี ๆ ของชีวิตเอาไว้
วลีนี้มาดังเป็นพลุแตกจากภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ซึ่งคุณครูจอห์น คีทติ้งพยายามกระตุ้นให้เด็ก ๆ ของเขาให้ลุกขึ้นทำสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดี และเขาก็เชื่อในตัวเด็กนักเรียนของเขาเป็นอย่างมาก
“ ... ฟังสิ ได้ยินไหม คา – เพ ฟังสิ คา – เพ คา – เพ – เดียม – เด็ก ๆ พวกเธอต้องฉกฉวยวันเวลานี้ไว้ ใช้ชีวิตของพวกเธอให้วิเศษที่สุด...”
ผมมาอ่านเจอวลีนี้อีกครั้ง ในหนังสือ “โตเกียวไม่มีขา” ของ นิ้วกลม แล้วผมก็ฉกฉวยวันเวลาเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง

วันอังคารที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

บุฟเฟ่ต์เช้า

วันนี้เป็นวันพิเศษวันหนึ่งของผม ปกติแล้วผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันนัก แต่ปีนี้ ผมอยากให้รางวัลกับตัวเองสักปี โดยผมวางแผนจะเขียนเรื่องราวเรื่องหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวผมเองโดยผมเข้าไปมีส่วนรับรู้เรื่องราวนี้ ผมขอตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “บุฟเฟ่ต์เช้า” ในฐานะที่บุฟเฟ่ต์ยามเช้ามีบทบาทดำเนินเรื่องราวเหล่านี้อย่างโดดเด่น

“บุฟเฟ่ต์เช้า” เป็นเรื่องราวของการพูดคุยถกเถียงและอรรถาธิบายของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งดวงชะตาหรืออาจจะเป็นพรหมลิขิตขีดเส้นทางชีวิตให้ทั้งสองมาเจอะเจอกัน ห่างหายกันไป และกลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง

“บุฟเฟ่ต์เช้า” เป็นความพยายามกลับมาเดินเคียงคู่กันอีกครั้งของหนุ่มสาวคู่นั้น หรืออาจจะเป็นเพียงความพยายามฝืนชะตาฟ้าหรือเปล่า พวกเขาก็ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้

“บุฟเฟ่ต์เช้า” จึงอาจจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ของการพูดคุยในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก่อนจะจากลากันไปอีกครั้ง หรืออาจจะเป็นบทนำของละครชีวิตฉากใหญ่ที่จะฉายต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปี จนกว่าหนุ่มสาวคู่นั้นจะตายจากกันไป

ณ ขณะนี้ “บุฟเฟ่ต์เช้า” จึงเป็นเพียงบทเริ่มต้น ซึ่งผมเองก็ยังไม่รู้ตอนจบ “บุฟเฟ่ต์เช้า” อาจจะจบแบบห้วน ๆ จบแบบแฮ้ปปี้เอ็นดิ้ง หรือจบแบบทิ้งปริศนาให้ขบคิดเพื่อไขปริศนาเหล่านั้นออกมา

ผมเลือกที่จะเขียน “บุฟเฟ่ต์เช้า” เป็นของขวัญให้ตัวเอง ในวันที่ผมกำลังเดินก้าวข้ามผ่านขั้นตอนชีวิตที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งไปสู่บทชีวิตใหม่ ๆ

อยากให้ผู้อ่านทุกคนเอาใจช่วยอยู่ห่าง ๆ ออกความเห็นบ้างเมื่อเห็นสมควร และยอมรับในตอนจบโดยดุษฎี

เพราะนี่คือชีวิตของคนธรรมดาคู่หนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะออกหัวออกก้อย ถูกใจขัดใจ ชีวิตของพวกเขาและพวกเราก็ต้องเดินหน้าต่อไป

ตามผมมาอ่านในบล็อก “บุฟเฟ่ต์เช้า กันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

มายาภาพใหม่: การเมืองใหม่ภาค 111

ก่อนอื่นขอเล่าถึงที่มาที่ไปของบทความนี้ก่อนนะครับ

ปีนี้เพื่อนร่วมห้องเรียนสมัยมัธยมของผมเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรุ่นครับ ผมก็เป็นเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งเพียงแต่ไม่ค่อยได้ช่วยเหลืองานอะไรสักเท่าไรนัก นอกจากงานหนึ่งคือการช่วยเขียนบทความในธีมหลักว่า "มองไปข้างหน้า" และเนื่องจากรุ่นที่ผมร่วมอยู่ด้วยนั้น คือ รุ่น 111 นั่นเลยกลายเป็นที่มาของ "มายาภาพใหม่: การเมืองใหม่ภาค 111" ครับ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าเห็นสรรพนาม "เรา" หรืออะไรก็ตามที่รู้สึกไม่คุ้นชิน นั่นคือ ผมต้องการสื่อสารถึงเพื่อนในรุ่นน่ะครับ

เร็วนะครับ อยู่ดี ๆ ผมจบมัธยมปลายมาเกือบ 15 ปีแล้วครับ

รู้สึกแก่แล้วจริง ๆ

...........


มายาภาพใหม่: การเมืองใหม่ภาค 111

คนที่เกิดช่วงหลังยุคเหตุการณ์สิบสี่ตุลาต่อเนื่องไปถึงหกตุลาอย่างพวกเรานั้น อาจจะเรียกว่าเป็นคนกลุ่มที่น่าอิจฉา และน่าสงสารไปในเวลาเดียวกัน น่าอิจฉาในแง่ที่ว่าเราได้มีประสบการณ์ตรงโดยอยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของประเทศชาติและของโลกนับจากช่วงเวลาเกิดจนถึงวันเริ่มต้นชีวิตในแต่ละช่วงวัย ระหว่างที่เรากำลังเริ่มรู้ความกันในสมัยประถมการประกาศลดค่าเงินบาทของพลเอกเปรมก็ทำให้ชีวิตเราสะดุดกึกไป พร้อม ๆ กับเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็เด็กเกินกว่าจะรับรู้ถึงผลกระทบ พอเรารู้ความในระดับที่ก่อให้เกิดอุดมการณ์ได้
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็เกิดขึ้นมาท้าทายจิตสำนึกของเรา แต่เมื่อเรากำลังจะเรียนจบเพื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจร้อนแรงที่รอเราอยู่ข้างหน้า เราก็ถูกรับน้องด้วยการลอยค่าเงินบาทของพลเอกชวลิตทันที น่าสงสารตรงที่ว่า พวกเราไม่สามารถมีส่วนในการตัดสินใจอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้เลย

การมองโลกทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของคนในรุ่นเรา ๆ จึงอาจจะแตกต่าง, กร้านโลก หรือแลดูปลงกับสถานการณ์มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ ไม่รู้ผมเขียนเกินจริงไปหรือเปล่า แต่คืนหนึ่งผมฝัน ผมฝันเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าต่อไปอีกไม่กี่ปี ในห้วงยามที่คนของเราบางส่วนอาจจะเริ่มได้มีโอกาสตัดสินชะตาชีวิตของเราเองบ้าง

ผมฝันว่าการเมืองของเรากำลังจะถึงจุดเปลี่ยนผ่านภายใต้การเรียนรู้จากห้องเรียนในชีวิตจริงอย่างเข้มข้น สังคมแบบแย่งฝ่ายแบ่งข้างกำลังจะปัดกวาดนักการเมืองโบราณในโลกเก่าให้หายไป และสร้างนักการเมืองกลางเก่ากลางใหม่ รวมถึงลูกหลานนักการเมืองโลกเก่า และนักการเมืองรุ่นใหม่แกะกล่องเข้ามาครอบงำการเมืองอย่างแนบเนียนขึ้น
แน่นอนว่าผมเห็นเพื่อนของเราบางคนไปยืนในจุดนั้น บ้างก็ทำในสิ่งที่เรารังเกียจรังงอนมาตลอด บ้างก็พยายามสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ และอีกหลาย ๆ คนผมก็ไม่เข้าใจว่าเค้าเข้าไปทำอะไร

ผมเห็นการตลาดทางการเมืองที่มาสร้างหน้ากากครอบงำให้ตัวละครทางการเมืองและประชาชนในสังคมให้จับกันไม่ได้ ไล่กันไม่ทัน ก่อนที่สำนึกทางการเมืองจะถูกสร้างขึ้นบนรากฐานที่เข้มแข็งต่อเนื่องและยาวนานพอสมควร สังคมการเมืองจะถูกแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้น พร้อม ๆ กับที่กลุ่มคนสีเทาจะมาเพิ่มพื้นที่สัดส่วนในสังคม คนกลุ่มหนึ่งจะมีอุดมการณ์มั่นคง คนกลุ่มหนึ่งจะเป็นไม้หลักปักขี้เลน และคนกลุ่มใหญ่เก็บอุดมการณ์ไว้ในลิ้นชัก เมื่อจำเป็นค่อยเปิดลิ้นชักออกมาอ้างอุดมการณ์เป็นระยะ ๆ

โลกการเมืองระดับประเทศเสื่อมลงขณะที่เส้นแบ่งอาณาเขตพื้นที่ประเทศก็จางลงไปเช่นกัน ผมฝันว่าเราคงจะไม่ลากรถถังออกมาสู้รบชิงปราสาท ภูเขา หรือแม้กระทั่งหนองน้ำเล็ก ๆ กันอีกแล้ว ประเทศจะรวมกันเป็นกลุ่มประเทศที่มีเส้นแบ่งความเป็นชาติบาง ๆ มีความเป็นภูมิภาคเข้มขึ้น พร้อม ๆ กับการแสดงตัวตนทั้งในแง่ปัจเจกชนและท้องถิ่นนิยม
รถถังจะถูกใช้ในงานวันเด็กและสำหรับวาดเสือให้วัวกลัว ทหารจะกลับที่ตั้งและเป็นหลังพิงให้ประชาชนอุ่นใจ และนัก การเมืองก็จะพยายามทำให้ทหารทำหน้าที่ยืนเฝ้ารั้วบ้านเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียว ๆ กัน จะเกาะกลุ่มกันแน่นหนาขึ้นและมีความเข้มแข็งขึ้นโดยอาศัยการสร้างเครือข่ายผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายการสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมาเพิ่มบทบาทพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งขึ้น

ความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับการรุมเร้าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยาวนานพอ สมควร ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มเหนื่อยล้า หมดแรง และสิ้นหวัง วาทกรรมทางเศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยเอสเอ็มอี
สร้างมนต์สะกดได้เพียงระยะสั้น ๆ แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าในเอสเอ็มอีนั้น เอสอยู่ยาก ต้องเอ็มขึ้นไปถึงจะอยู่รอด ก็ทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ดับวูบไป อย่างไรก็ดี โอกาสที่เกิดขึ้นกับคนไม่กี่คนกี่กลุ่มก็ช่วยเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจ สร้างความหวังให้คนหมู่มากได้มองโลกในแง่ดีอยู่บ้าง แต่ความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นก็ทำให้คนหันมามองตัวเอง มองกลุ่มของตน มากกว่ามองเพื่อคนส่วนรวม นั่นทำให้การสร้างเครือข่ายมีความสำคัญพอ ๆ กับการพิสูจน์ถึงความสำเร็จส่วนตัว หนังสือฮาวทูปกใหม่ ๆ จึงยังคงคลอดออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องแม้ว่ากว่าครึ่งของมันใช้การไม่ได้กับสภาพแวดล้อมเฉพาะของแต่ละบุคคล หนังสือจิตวิทยายังคงขายดีเพียงเพราะคนต้องการเข้าถึงจิตใจคนอื่นรอบตัว
และหนังสือธรรมะจะยังเป็นหลังอิงที่แข็งแรงสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ขาดที่พึ่งและไม่มีคนเข้าข้างตัวเอง

ความผันผวนของเศรษฐกิจไทยที่มีเศรษฐกิจโลกเป็นดัชนีชี้นำภายใต้การครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จของการเก็งกำไรในหลากหลายรูปแบบและมากชั้นระดับของการเก็งกำไรจะยังคงอยู่ แต่โมเมนตัมของเศรษฐกิจโลกจะเกิดแรงเหวี่ยงครั้งสำคัญให้สลับมาอยู่ทางฝั่งเอเซียบ้าง แต่เศรษฐกิจเอเซียก็ยังอ่อนแอเกินกว่าจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้กุมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกยังต้องเป็นพี่เลี้ยงและทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเอเซียแทน การควบคุมการข่าวและการตลาดช่วยสร้างมายาภาพทางเศรษฐกิจจนทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือจริงคือลวง บางครั้งลวงกลับจริงและจริงกลับกลายเป็นลวง การยอมรับและปรับตัวเข้ากับสังคมมายาภาพเพื่อสร้างเศรษฐกิจมายาภาพกำลังจะทำให้ทุกคนกลายเป็นนักแสดงในชีวิตจริง

เราพร้อมจะบีบน้ำตาหน้าจอทีวีเพื่อสร้างฉากดรามาโดยมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ การแสดงละครเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต การสร้างภาพลวงตาลวงใจกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความกล้าให้เกิดขึ้น ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดจะถูกนำมาใช้อย่างบ่อยครั้งจนกลายเป็นกระแสหลัก นั่นทำให้ภาพที่เห็นในชีวิตจริงจะเกิดจากมายาภาพที่เกิดขึ้นรายล้อมรอบตัวเรา

การเมืองจะกลายเป็นมายา ข้าวปลาก็ไม่มีจริง เราอิ่มทั้ง ๆ ที่เรายังหิว เรายิ้มทั้ง ๆ ที่น้ำตาเราไหล แต่ทุกคนกลับยอมรับภาพมายาเหล่านั้น ร่างกายจึงทรุดโทรม จิตใจก็ห่อเหี่ยวเพราะร่างกายและจิตใจซื่อกว่าความคิดและจินตนาการ

ผมตื่นขึ้น และมองเห็นภาพเหล่านั้นเบื้องหน้าทันที

วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ภิกษุสันดานกา

ผมนั่งอ่านข่าวพระไทยออกมาประท้วงการแสดงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้แต่นั่งหัวเราะไปพร้อม ๆ กับคลิกไปอ่านข่าวพระพม่าเป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร

พระจากสองประเทศที่อยู่ติดกันให้ภาพที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ผมไม่แน่ใจว่า ยามที่เราต้องการพระไทยในเชิงจิตวิญญาณ พระไทยเหล่านั้นหายไปไหนกันหมด

เกือบสองเดือนก่อน ผมไปลาวพร้อมกับน้องอีกหนึ่งคน ภาพวัดและสงฆ์ลาวในเวียงจันทร์ทำให้ผมเกิดความอยากอ่านหนังสือธรรมะขึ้นมาหลังจากทิ้งไปนานหลายปี เพราะ ผมไพล่ไปคิดว่า ถ้าเราเข้าถึงธรรมะเหมือนดั่งที่พระลาวเข้าถึงแล้วไซร้ ชีวิตของเราคงจะสงบ ใบหน้าและเรือนกายจะเปล่งปลั่งดั่งที่พระลาวเป็นอยู่

ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับพระลาวและเดินชมวัดลาวค่อนข้างมากพอสมควร พระลาวอาศัยประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาในการเข้าถึงความเจริญที่เป็นไปผ่านช่องโทรทัศน์ไทยที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศลาว พวกเขาได้เห็นการประยุกต์ศาสนาเข้ากับการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าการนำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัฒนธรรมอย่างที่เป็นไปในลาว พวกเขาชื่นชมประเทศไทยแต่ก็ไม่ได้คิดอยากจะเป็นอย่างประเทศไทย พวกเขาเห็นว่ามันวุ่นวายสิ้นดี

พระรูปหนึ่งบอกผมว่า อยากจะหาโอกาสไปกรุงเทพฯ แต่ท่านก็คิดว่าคงอยู่ได้ไม่นานนัก ท่านคงอยากจะเห็นว่าความเจริญทำให้จิตใจเปลี่ยนไปอย่างไร พระรูปนั้นยังบอกผมว่า พุทธพาณิชย์ในลาวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พระมีหน้าที่สองอย่างคือบวชเรียนและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนในประเทศเท่านั้น

ในการเที่ยวลาวครั้งนั้น ผมไปทั้งวัดที่เวียงจันทร์และหลวงพระบาง วัดในเวียงจันทร์เหมือนเป็นที่พึ่งทางใจอย่างแท้จริง เป็นที่ให้การศึกษาและสร้างปัญญาให้เยาวชนคนลาว ในขณะที่วัดในหลวงพระบางให้ความรู้สึกของการเป็นห้องแสดงสินค้าของประเทศลาวเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินชม การทำบุญใส่บาตรตอนเช้าเหมือนการแสดงโชว์ใหญ่ประจำวันที่รอบข้างเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ชักภาพกันอย่างสนุกสนาน พร้อมคิดในใจว่า เรามาถึงลาวแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ใช้เวลาสายถึงบ่ายเดินดูวัดเก่าที่แสดงโชว์ทั่วเมือง ก่อนไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่วัดอีกแห่งหนึ่งที่มีมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์สวยที่สุด แต่ตกดึกนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ก็นั่งดวดเหล้าเบียร์อยู่รอบ ๆ วัดนั่นเอง นี่อาจจะเป็นส่วนดีและส่วนแย่ที่คลุกเคล้าปะปนกันของการเป็นเมืองมรดกโลกจากการประกาศขององค์การยูเนสโก้

ในขณะที่วัดไทยส่วนมากที่ผมได้สัมผัสกลับให้ความรู้สึกของความเป็นทุนนิยมที่เคลือบโบสถ์ วิหาร และกุฏิ จนทำให้เราคิดแต่เพียงว่า การบริจาคเงินมาก จะทำให้ได้บุญมาก การบริจาคเงินน้อยย่อมเป็นสัดส่วนแปรผันเป็นความสุขที่จะได้น้อยตามไปเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การสร้างการตลาดแบบหลายชั้นทับซ้อน (MLM) ของการบริจาคเงินเพื่อสร้างพระพุทธรูปหรือศาสนสถานใหญ่โตโอ่อ่าจึงสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมแบบไทยเราได้อย่างลงตัวเหมาะเจาะ และทำความเข้าใจได้โดยง่าย

นั่นทำให้ เมื่อภาพภิกษุสันดานกาเปิดเผยสู่สาธารณชนจึงเป็นเหมือนการถูกทุบหม้อข้าวครั้งใหญ่ แรงกระเพื่อมย่อมส่งผลให้ต้องมีนอมินีลุกขึ้นมาประท้วงในลักษณ์เดียวกับที่เราเห็นนักการเมืองไทยทำกันอยู่ หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับผลกระทบใด ๆ เคยทำไว้ อย่างกรณีภาพยนตร์ไทยบางเรื่องที่มีเนื้อหาไปกระทบคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้และถูกคนกลุ่มเหล่านั้นลุกขึ้นประท้วงกันเป็นกิจวัตร

โดยที่สงฆ์ซึ่งถือเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณกลุ่มนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจภาพเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง อาจจะต้องการนำภาพเหล่านั้นไปจัดแสดงในบริเวณวัดเพื่อให้ประชาชนที่เดินทางไปค้นหาที่พึ่งทางจิตวิญญาณได้เห็นภาพและเข้าใจถึงแก่นแท้ของมัน มากกว่าจะเดินทางเข้าวัดเพื่อร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์พุทธพาณิชย์ โดยมีจตุคามรามเทพรุ่นใหม่ ๆ หรือพระเครื่องรุ่นเจ๋ง ๆ ที่รอวันกลับมาทวงส่วนแบ่งทางการตลาดที่เสียไปช่วยสร้างโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งเหมาะกับนักเรียนเศรษฐศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ทั้งหลายควรมานั่งศึกษาว่าตลาดเสรีเป็นอย่างไรและตลาดผูกขาดมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบภิกษุที่มีความปรารถนาลามก ไร้ยางอาย แสวงหาลาภสักการะชื่อเสียงในทางที่ขัดหลักพระธรรมวินัยว่า “มีความประพฤติเยี่ยงกา” (สุรพศ ทวีศักดิ์, “ค้านภิกษุสันดานกากับการแสดงท่าทีต่อพระพม่า บทพิสูจน์ภาวะผู้นำทางจิตปัญญา”, มติชนรายวัน, 7 ตุลาคม 2550)

ภาพภิกษุสันดานกาจึงตั้งแสดงพร้อม ๆ กับที่เราเห็นกาบินว่อนไปมาบนหน้าหนังสือและเว็บข่าว สร้างความสลดหดหู่ในจิตใจของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่แม้ยังเข้าไม่ถึงแก่นพุทธธรรมแต่ก็มองเห็นกาเหล่านั้นชัดเจน

ป.ล. 1 ตามข่าวพระพม่าและการประท้วงเผด็จการทหารได้ที่ http://ko-htike.blogspot.com/ และ http://www.fringer.org/ และอ่านนิวัต กองเพียร พูดถึงความไม่รู้ของพระในเรื่องศิลปะได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=5928&catid=8
ป.ล. 2 ขอขอบคุณภาพจากเว็บข่าวมติชน

วันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การเดินทางของฮอนมากุโระ

ผมเพิ่งมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนตลาดปลาทสึคิจิ (Tsukiji) กรุงโตเกียวในฐานะตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเช้าตรู่วันศุกร์สบาย ๆ ผมเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟใต้ดินไปถึงตลาดเวลาหกโมงเช้า

ผู้คนพลุกพล่าน ทั้งคนที่มาซื้อขายจริง, นักท่องเที่ยว และคนอยากรู้อยากเห็นอย่างผม ท่ามกลางผู้คนและรถขนปลาที่วิ่งกันขวักไขว่ ผมกำลังมาตามรอยการเดินทางของ “ฮอนมากุโระ” หรือ “ปลาทูน่าหนุ่ม” ที่บางครั้ง มันมีค่าตัวกว่าล้านบาทเลยทีเดียว

ตลาดปลาทสึคิจิ

ถ้าพูดถึงตลาดปลาริมแม่น้ำ หรือ อูโอกาชิ (Uogashi) นั้นจะต้องย้อนกลับไปสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยเอโดะ โดยโชกุนโตกุกาว่า อิเอยาสุ ซึ่งเป็นผู้สถาปนาเอโดะหรือกรุงโตเกียวในปัจจุบันขึ้นมาได้เชื้อเชิญเหล่าชาวประมงจาก ทสึกุดะชิมา เมืองโอซาก้า และให้สิทธิ์พวกเขาในการจับปลาเพื่อเป็นอาหารทะเลนำส่งเข้าวัง นอกจากการหาปลาเพื่อนำส่งเข้าวังแล้ว พวกชาวประมงเหล่านี้ยังขายปลาส่วนที่เหลือให้กับประชาชนทั่วไปบริเวณสะพานนิฮอนบาชิ และได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ อูโอกาชิ ขึ้นมา

แต่เมื่อความต้องการปลามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น อูโอกาชิบริเวณนิฮอนบาชิก็ได้ถูกปฏิรูปครั้งใหญ่และพัฒนาขึ้นมาเป็นตลาดอย่างเต็มตัว ตลาดแห่งนี้ได้ถูกบริหารจัดการโดยเหล่าพ่อค้าส่งปลาที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการโดยจะรับซื้อปลามาจากท่าเรือ, ขายมันให้กับลูกค้าในตลาด และสร้างเครือข่ายทางการค้าและการขนส่งขนาดใหญ่ขึ้นมา

เช่นเดียวกับตลาดซื้อขายผักผลไม้ซึ่งรวบรวมผักผลไม้จากบริเวณชานเมืองเอโดะก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่ คันดะ, เซ็นจู และ โคมาโกเมะ ซึ่งถือเป็นตลาดซื้อขายผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งของเอโดะ ซึ่งตลาดเหล่านี้ก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในลักษณ์เดียวกับตลาดปลาจากการขับเคลื่อนของผู้ค้าส่งทั้งหลาย

ในยุคสมัยเอโดะนั้น ราคาสินค้าในตลาดจะถูกกำหนดโดยการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ซื้อขายเป็นหลัก ในขณะที่การประมูลสาธารณะยังแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นยกเว้นในตลาดซื้อขายผักผลไม้ แต่เมื่อย่างเข้าสู่ยุคสมัยเมจิและไตโช สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ของเหล่าพ่อค้าขายส่งเหล่านี้ก็ได้ถูกยกเลิกไป และต่อมาในปี 1923 ตลาดกว่า 20 แห่งในโตเกียวก็ได้ถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของแถบคันโต

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมืองโตเกียวได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์กลางตลาดขายส่งภายใต้กฎหมายตลาดศูนย์กลางค้าส่งฉบับใหม่ซึ่งได้บัญญัติขึ้นในปีเดียวกันนั้นเอง และเป็นที่มาของตลาดกลางที่ทสึคิจิ, คันดะ และ โคโต ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่และเมื่อผนวกกับการเติบโตของจำนวนประชากรที่เป็นไปอย่างรวดเร็วก็ทำให้ตลาดใหม่เหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและงดงาม

พฤติกรรมตลาด

ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ตลาดกลางขนาดใหญ่ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้รับข้อมูลในการซื้อขายอย่างเพียบพร้อมโดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใครนั้นถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์

นักเศรษฐศาสตร์สนใจที่จะสร้างตลาดเชิงทฤษฎีขึ้นมาและพยายามนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับตลาดในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นตลาดประมูลดอกไม้ Aalsmeer ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีดอกไม้ซื้อขายในตลาดมากถึง 20 ล้านดอกต่อปี, ตลาดปลา Fulton ในนิวยอร์คซึ่งตั้งอยู่บนถนน Fulton บนเกาะแมนฮัตตันมากว่า 150 ปีก่อนที่จะย้ายไปยัง Hunts Point ในแถบ South Bronx เมื่อปี 2005 โดยเป็นตลาดปลาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากตลาดปลาทสึคิจิ และตลาดปลาทสึคิจิ ตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับสินค้าปลาแล้วถือว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากมีความหลากหลายของตัวสินค้าที่ค่อนข้างสูง โดยตลาดปลาทสึคิจิมีการซื้อขายสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมากถึง 7 แสนตันต่อปี วันละ 2 ล้านกว่ากิโลกรัม หรือคิดเป็นเงินมากถึง 6 แสนล้านเยน หรือวันละพันกว่าล้านบาท โดยแต่ละวันจะมีสัตว์ทะเลและของทะเลมากกว่า 400 รายการจากทั่วโลก 60 ประเทศจาก 6 ทวีป ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายทะเล, คาเวียร์, ปลาซาร์ดีนราคาถูก ๆ, ไข่ปลาคาเวียร์ ไปจนถึงปลาทูน่าน้ำหนัก 300 กิโลกรัมที่ซื้อขายกันตัวละกว่า 3 ล้านเยน

นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Kathryn Graddy ได้ศึกษาตลาดปลา Fulton และพบว่า ผู้ค้าในตลาดมีแนวโน้มจะตั้งราคาสินค้าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นชาวเอเชียมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าผู้ซื้อชาวผิวขาวทั่วไป โดยเหตุผลหลักเกิดจากการที่ผู้ซื้อชาวเอเชียเหล่านั้นมีลูกค้าในไชน่าทาวน์ที่อ่อนไหวต่อราคามากกว่า

แม้ในเชิงทฤษฎีแล้ว ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์จะช่วยแก้ปัญหาการที่ผู้ขายสินค้าจะตั้งราคาสำหรับกลุ่มลูกค้าผิวขาวสูงกว่าลูกค้ากลุ่มอื่นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ได้แม้ในตลาดปลาขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างนี้

ยิ่งตลาดสามารถทำงานได้ดีเพียงไร ก็จะทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น ธุรกรรมหลาย ๆ อย่างจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างมาก กล่าวคือ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้เกิดธุรกรรมที่ทันสมัยหลาย ๆ อย่าง ได้แก่ ระบบกฎหมาย, การให้เครดิต, ระบบการเงิน และระบบการจัดการบัญชี ซึ่งรวมถึงการซื้อขายหุ้นซึ่งเปรียบเสมือนการให้ยืมเงินเพื่อแลกกับอนาคตที่อาจจะสดใส

ธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจำเป็นต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่นักบัญชี, ผู้กำหนดกฎหมาย, โบรกเกอร์, และนักกฎหมายเพื่อทำให้ธุรกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น

ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ภาคส่วนจึงเกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้ต่ำลงเพื่อทำให้ธุรกรรมที่ซับซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้

สำหรับการก่อตั้งศูนย์กลางตลาดค้าส่งในประเทศญี่ปุ่นนั้น ถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นภายใต้กฎหมายตลาดค้าส่งเพื่อเป็นสถานที่ในการซื้อขายอาหารสดที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ปลา, ผัก, ผลไม้, เนื้อสัตว์ และ ดอกไม้ ตลาดเหล่านี้ตั้งขึ้นมาสำหรับสินค้าที่เสียง่ายไม่สามารถเก็บเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ นอกจากนี้ สินค้าเหล่านี้ยังอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นทำให้ราคาของสินค้าเหล่านี้จะเคลื่อนไหวขึ้นลงในช่วงที่กว้างกว่าสินค้าอื่น ๆ มาก ดังนั้น ตลาดค้าส่งนี้จึงอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อทำให้การจัดส่งสินค้าระหว่างกันเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีศูนย์กลางตลาดค้าส่งอยู่ 88 แห่งใน 56 เมืองทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นตลาดสำหรับสินค้าผักและผลไม้ 5 แห่ง, ตลาดปลา 54 แห่ง, ดอกไม้ 19 แห่ง และเนื้อสัตว์อีก 10 แห่ง

สำหรับการประมูลในตลาดปลานี้ ตลาดปลาจะทำหน้าที่เป็นตลาดกลางในการจับคู่ระหว่างปลากับผู้ซื้อ โดยอาศัยหลักการที่ว่าตลาดกลางขนาดใหญ่จะสามารถจับคู่ผู้ซื้อและปลาได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความหลากหลายของสินค้าปลาเป็นตัวอธิบายที่ดีว่าทำไมตลาดปลาถึงยังคงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ในขณะที่การซื้อขายสินค้าอื่น ๆ ค่อย ๆ เลิกการซื้อขายในลักษณะรวมศูนย์มากขึ้นๆ แล้ว เนื่องจากปลาสดจะเป็นสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะปลาเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย, อุปสงค์ของสินค้าก็ยากที่จะคาดเดาได้ และปลาแต่ละตัว ๆ ก็มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าสินค้าเกษตรอื่น ๆ

ซึ่งระดับความหลากหลายของสินค้าที่มีสูงรวมถึงโครงสร้างของตลาดปลาทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมทางการตลาดที่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์เกิดขึ้นและทำให้ตลาดเกิดการแยกส่วน ผู้ซื้อในตลาดปลาจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของลูกค้าซึ่งมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ภัตตาคารเล็ก ๆ ที่เอาเนื้อปลาไปทำลูกชิ้นราคาถูก ๆ, ภัตตาคารหรูหราใจกลางมหานครบนตึกสูงระฟ้า, ไปจนถึงร้านซูชิเล็ก ๆ ชานกรุงโตเกียว

สำหรับการประมูลปลาทูนาในตลาดทสึคิจินั้นจะเริ่มต้นประมาณตีห้าครึ่ง โดยปลาทูนาจะถูกเขียนเบอร์ไว้บนตัวด้วยสีผสมอาหาร เมื่อระฆังมือถูกสั่น ก็เป็นสัญญาณของการเริ่มประมูลปลาทีละตัว ๆ โดยตัวแทนของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลจะเดินสำรวจปลาทีละตัว ๆ ที่เรียงเป็นแถวยาวอย่างละเอียดตั้งแต่เช้าตรู่แล้ว และอาจจะทำสัญลักษณ์ไว้สำหรับปลาที่ตัวเองสนใจ ผู้นำการประมูลจะเดินไปที่ปลาทีละตัว ๆ, ประกาศราคากลางออกมาและเปิดให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาสำหรับทูน่าตัวนั้น ๆ

วัฒนธรรมการประมูลปลาในตลาดทสึคิจิจะมีความเฉพาะตัวอยู่และมีสัญลักษณ์ รวมถึงคำพูดที่ใช้ที่เข้าใจได้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนญี่ปุ่นเองก็ไม่สามารถเข้าใจภาษาเฉพาะเหล่านั้นได้

เมื่อผู้นำการประมูลได้ราคาที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็จะส่งสัญญาณมือที่เรียกว่า “เทยาริ” เพื่อบอกให้ผู้เข้าประมูลทราบถึงราคาที่เป็นที่ยอมรับและราคาสุดท้ายที่ตกลงกัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจบลงภายในไม่กี่วินาทีเท่านั้น

นอกจากการซื้อขายปลาแล้ว ในตลาดทสึคิจิยังมีการประมูลผักผลไม้, เนื้อสัตว์ และดอกไม้อีกด้วย โดยจะเริ่มต้นเร็วช้าแตกต่างกันไป

อนาคตของตลาดปลาทสึคิจิ

แผนการย้ายตลาดปลาทสึคิจิในปี 2012 ไปยังโทโยซึ เขตโคโต กรุงโตเกียว ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานโตเกียวแก๊สมาก่อนนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมของกระแสความไม่เห็นด้วยให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาลให้เหตุผลที่จำเป็นต้องมีการย้ายตลาดไปเนื่องจาก ตลาดปลาทสึคิจิในปัจจุบันนั้นได้เสื่อมสภาพลงไปมากหลังจากที่ได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 1935 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้สถานที่ตั้งเดิมนี้ค่อนข้างคับแคบและไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นได้

โทโยซึมีพื้นที่ประมาณ 40.7 เฮกเตอร์ ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของตลาดทสึคิจิในปัจจุบัน จึงถือว่าเหมาะสมสำหรับการสร้างตลาดปลา การสร้างระบบรักษาความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างกว้างขวางเนื่องจาก โทโยซึ ที่ทางการมีโครงการจะย้ายตลาดปลาไปไว้ที่นั่นนั้นเคยเป็นที่ตั้งของโรงงานแก๊สมาก่อน จึงถูกโจมตีว่าพื้นที่นั้นน่าจะมีปริมาณสารเคมีใต้ผืนดินในปริมาณที่มากเกินมาตรฐานปกติ ซึ่งประเด็นด้านสารเคมีตกค้างนี้ทางเทศบาลกรุงโตเกียวมิได้แจ้งให้บรรดาเจ้าของร้านค้าต่าง ๆ ในตลาดทสึคิจิได้รับทราบ ทำให้เจ้าของร้านต่าง ๆ เห็นแต่ด้านดีของการย้ายไปยังโทโยซึ และเจ้าของร้านประมาณ 800 รายหรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของร้านทั้งหมดเห็นด้วย

ปริมาณสารเคมีที่พบในดินที่มีขนาดเกินมาตรฐาน ได้แก่ Benzene, Cyan, Arsenic, ปรอท, ตะกั่ว และ แคดเมี่ยม ซึ่งยังผลให้ดินและน้ำบาดาลในแถบโทโยซึมีโอกาสเปรอะเปื้อนสารเคมีเหล่านี้สูงมาก

อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลกรุงโตเกียวได้ได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการเปลี่ยนหน้าดิน กล่าวคือ จะเป็นการขุดเอาหน้าดินออกจากผิวดินความลึก 2 เมตร จากนั้นถมดินใหม่หนา 2.5 เมตร แต่วิธีนี้ก็ถูกนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมโจมตีว่าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดินได้ แต่ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษของน้ำบาดาลได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหากรณีการเกิดแผ่นดินไหวและทสึนามีที่จะทำให้การอพยพผู้คนในตลาดแห่งใหม่เป็นไปด้วยความยากลำบากอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การย้ายตลาดไปยังโทโยซึยังคงเป็นหัวข้อสนทนาและถกเถียงกันอีกยาวนาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็มองเห็นว่า การย้ายตลาดจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่คงต้องใช้เวลาอีกมากพอสมควร

สำหรับตลาดปลาแล้ว นี่คือโมเดลทางเศรษฐกิจที่มีความยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะพอหาได้ในระบบเศรษฐกิจแบบลักปิดลักเปิดแบบสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเดินทางของฮอนมากุโระจากทะเลน้ำลึก เข้าตลาดปลา จนมาเสริฟบนโต๊ะอาหารของเราเป็นการเดินทางที่ยาวนานและผ่านประสบการณ์มากมายของปลาทูน่าหนุ่มตัวหนึ่ง ซึ่งถ้ามันเขียนบทบันทึกเล่าเรื่องการเดินทางของมันได้ คงเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฏจักรของชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้อีกชีวิตหนึ่ง

คุณอยากอ่านบทบันทึกเล่มนี้เหมือนผมไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม

1. Issenberg, Sasha. (2007), The Sushi Economy: Globalization and the Making of a Modern Delicacy, New York: Gotham Books.
2. Bestor, Theodore C. (2004), Tsukiji: The Fish Market at the Center of the World, Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
3. สาลินี (2550), เจแปน เจอนั่น เจอนี่, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วงกลม.
4. วันชัย ตัน (2549), บันทึกญี่ปุ่น, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วงกลม.
5. Harford, Tim (2007), ‘How to See a Tuna: What Fish Markets Teach about the Economy,’ Slate.com, June 22, 2007.
6. Graddy, Kathryn (-), ‘Markets: The Fulton Fish Market,’ Forthcoming, Journal of Economic Perspectives.
7. สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง, ‘ตลาดปลาซึคิจิจะต้องย้ายหรือไม่,’ 30 July 2007, http://www.thaiceotokyo.jp/thai/index.php?option=com_content&task=view&id=570&Itemid=1



ป.ล. บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารผู้จัดการรายเดือนฉบับเดือนกันยายน 2550 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://gotomanager.com/news/details.aspx?id=62429

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

Paris, je t’aime: เรารักปารีส

จริง ๆ แล้ว เมืองใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ, ลอนดอน, ซิดนีย์, ปักกิ่ง หรือ ปารีส ก็หมือนหนังสือเล่มหนา ๆ เล่มหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละภาคส่วนของเมือง ในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่สวนสาธารณะเล็ก ๆ ริมขอบชานเมือง, ในสุสาน, ที่จอดรถข้างถนน, ร้านอาหาร เรื่อยไปจนถึงใต้หลังคาบ้านแต่ละหลังที่มีเรื่องเล่ามากมายพอที่จะเอามาเขียนเป็นหนังสือเล่มบางเล่มหนาอีกหลายพันหลายหมื่นเล่ม

Paris, je t’aime หรือ Paris, I Love You เป็นเรื่องราวความรักที่มีต่อกรุงปารีสจากสายตาของผู้กำกับ 20 คนที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว 18 เรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละเมืองย่อย ๆ ของกรุงปารีส

กรุงปารีสแบ่งออกเป็นเมืองย่อย ๆ 20 เมืองที่เรียกว่า arrondissements municipaux หรือ arrondissements หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า municipal boroughs ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1st arrondissement ไปจนถึง 20th arrondissement โดย arrondissement ลำดับที่ 1 คือ เมืองที่เรียกว่า Tuileries และลำดับที่ 20 คือ Père-Lachaise

ใน Paris, je t’aime ประกอบด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองย่อย ๆ เพียง 18 เมืองเท่านั้นเนื่องจากมีอยู่สองเรื่องที่ไม่สามารถเข้ากับเรื่องนี้ได้จึงถูกตัดทิ้งไป

Paris je t’aime เป็นโครงการภาพยนตร์ในแบบที่เรียกว่า Anthology Film โดยเป็นการนำเอาผู้กำกับหลาย ๆ คนซึ่งอาจจะเป็นคนในหลายรุ่นหรือรุ่นเดียวกันก็แล้วแต่มาช่วยกันทำหนังสั้นคนละหนึ่งเรื่องตามแต่ละโครงการกำหนดคอนเซ็ปต์เอาไว้ จากนั้นนำเอาเรื่องทั้งหมดมาร้อยเรียงรวมกันกลายเป็นหนังขนาดยาว โดยในเรื่องหนึ่งอาจจะประกอบด้วยหนัง 2 – 3 เรื่องไปจนถึงมากกว่า 20 เรื่องก็เป็นได้

ใน 18 เรื่องย่อยที่เกิดขึ้นในเรื่อง Paris, je t’aime นั้นเป็นมุมมองของผู้กำกับแต่ละคนเกี่ยวกับความรักที่มีต่อปารีสของพวกเขา บางเรื่องก็ดูซับซ้อนจนตีความไม่ออก บางเรื่องก็เป็นเรื่องราวความรักง่าย ๆ ตั้งแต่ความรักของหนุ่มสาว, สามีภรรยา ไปจนถึงความรักของพ่อหรือแม่ที่มีต่อลูก ไปจนถึงความรักของชายรักชาย

มีสองเรื่องที่ผมชอบมากที่สุด เรื่องหนึ่งเป็นความรักระหว่างสามีภรรยา สามีตั้งใจว่าจะบอกภรรยาว่าเขามีเมียน้อยที่รักกันมากและอยากจะขอเลิกกับเธอ แต่ในการพบกันนั้น เธอกับบอกเขาว่าเธอเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว และคงจะตายในอีกไม่นาน สามีได้ยินดังนั้น ตัดสินใจบอกเลิกเมียน้อยและกลับมาดูแลภรรยาให้ใกล้ชิดที่สุด เพื่อให้ช่วงชีวิตสุดท้ายของภรรยามีความสุขให้มากที่สุด ในบ้านเล็ก ๆ ในเขตเมืองที่เรียกว่า Bastille ซึ่งเป็น arrondissements ลำดับที่ 12 ฉายให้เห็นภาพความรักของสามีภรรยา ที่บทบรรยายไทยเขียนไว้ว่า เขากลับมาเป็นคนมีความรักอีกครั้ง จริง ๆ ความรักมันก็ง่าย ๆ แบบนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน และพร้อมจะรื้นน้ำตาได้ง่าย ๆ

อีกเรื่องเป็นความรักของเด็กชายที่กำลังหัดจีบสาว และหนังบอกว่า เขายังมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับความรักไปตลอดชีวิต แสงจ้า ๆ ยามสาย ๆ ถึงบ่ายฉายให้เห็นภาพการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ในชีวิตของเด็กชายที่ต่อไปในภายภาคหน้า เขาก็จะต้องพบกับช่วงที่ฝนตกหนัก และฤดูหนาวที่แสนจะหนาวเหน็บ แต่ท้ายสุดแล้ว ชีวิตก็จะวนกลับมาสู่วันที่มีแสงจ้า ๆ ยามบ่ายอยู่เสมอ

สำหรับผม เมื่อนึกถึงปารีส ผมนึกถึงถนน Champs-Élysées และเออร์เนส เฮมมิ่งเวย์ ที่อาศัยร้านกาแฟริมถนนในมหานครปารีสในการสร้างงานเขียนชั้นเยี่ยมมากมาย ผมนึกถึงแดดอ่อน ๆ ยามบ่ายที่ส่องผ่านกระจกเข้ามาบนโต๊ะกาแฟ ในขณะที่เฮมมิ่งเวย์กำลังจรดดินสอเขียนแต่ละประโยคออกมาอย่างแช่มช้า

ปารีส โรแมนติกเสมอมาครับ

ป.ล. อยากรู้จักหนังเรื่องนี้มากขึ้น อ่านได้ที่ Paris, je t’aime มะรุมมะตุ้มรุมรักปารีส และ Paris, je t’aime ใน Wikipedia และ IMDb รวมถึงเว็บไซท์อย่างเป็นทางการ

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ความจำสั้น ความฝันยาว

จำได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่ผมเจอพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) ตัวเป็น ๆ นั้นประมาณเกือบ 6 – 7 ปีก่อนที่โรงแรมดุสิตธานี ผมจำไม่ได้ว่าพี่เค้ามาเนื่องในโอกาสอะไร รู้แต่ว่าเป็นงานที่เชิญพี่เค้ามาพูดเรื่องอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับความฝัน

ผมรู้จักพี่จุ้ยก่อนรู้จักเฉลียง ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะรู้จักพี่เค้าจากงานเขียนโดยเฉพาะงานเขียนในนิตยสารไปรยาลใหญ่ ซึ่งเป็นนิตยสารที่แนวมากพอ ๆ กับนิตยสาร a day ในปัจจุบัน

ในสมัย 20 ปีที่แล้วความตึงเครียดทางด้านเศรษฐกิจยังไม่ซับซ้อนเท่าทุกวันนี้ แต่นิตยสารไปรยาลใหญ่ก็เป็นหนังสือแนวเพื่อชีวิตเพียงไม่กี่เล่มที่หาซื้อได้ตามแผง คำว่าเพื่อชีวิตนี้ผมไม่ได้นึกไปถึงหน้าพี่แอ้ด คาราบาว แต่ผมพูดถึงเพื่อชีวิตที่สดใสหรือเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงแนวหนังสือแนวศาสนา, จิตวิทยา, หรืออาจจะเข้มข้นเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่งอย่าง ฅ. ฅน ในปัจจุบันก็เป็นได้

ผมจึงรู้จัก ศุ บุญเลี้ยง ในฐานะหนึ่งในเจ้าสำนักศิษย์สะดือมาก่อนที่จะรู้จักเฉลียง

เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา เฉลียงเพิ่งมีคอนเสิร์ท “งานดนตรีบำบัด ถาปัดจัด เฉลียงโชว์” เพื่อหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ รวมถึงสนับสนุนด้านการศึกษาของคณะด้วย

ผมไม่ได้ไปดูด้วยตาตัวเอง เพียงแต่ติดตามห่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในฐานะคนที่ชื่นชอบเฉลียงอีกคนหนึ่งแต่ไม่ค่อยแสดงออก โดยมีน้องแถว ๆ นี้ไปดูซึ่งผมก็แอบเลียบ ๆ เคียง ๆ ไปถามความเป็นไป

คืนวันอาทิตย์หลังคอนเสิร์ทผมได้มีโอกาสรำลึกความหลังเกี่ยวกับเฉลียงผ่านรายการ “ย้อนรอย” ซึ่งพูดถึงเส้นทางการเติบโตและวันคืนอันแสนสุขของเฉลียง ในยุคสมัยที่นักร้องในวงยังเป็นหน้าละอ่อนอยู่ ในขณะที่ปัจจุบันล้วนมีลูกมีเต้าและกำลังอยู่บนเส้นทางของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความฝันที่บ่มเพาะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผมชอบเฉลียงตรงที่พวกเขามองโลกในแง่ดี พวกเขาคือกลุ่มคนที่ชอบเดินชมดอกไม้ไปตามรายทาง เหนื่อยก็พัก หยิบผลไม้ที่ตกตามพื้นมาเช็ดฝุ่นและบิแบ่งกันกิน พวกเขาไม่ใช่คนที่จะเลือกตัดต้นไม้และสร้างถนนขึ้นเขา แต่พวกเขาเลือกที่จะเดินเลียบริมทางที่มีอยู่แล้ว หรือแหวกต้นไม้ใบหญ้าเพื่อไปให้ถึงยอดเขา

ในยุคสมัยหนึ่ง มันคือความสวยงามของชีวิตโดยเฉพาะชีวิตวัยรุ่นที่ยังไม่มีห่วงหน้าพะวงหลัง พวกเขาสามารถใช้ชีวิตวัยรุ่นได้อย่างเต็มที่ พวกเขาพร้อมจะล้มลงแต่ก็ยังมีเพื่อนร่วมทางคอยฉุดให้ลุกขึ้นเดินต่อไป

แต่เฉลียงชุดสุดท้ายซึ่งผมมองว่า พวกเขาเริ่มมองเห็นความจริง ชีวิตไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป พวกเขามาถึงจุดสูงสุดที่พวกเขาไม่สามารถที่จะมองโลกสวยงามได้อีกต่อไปแล้ว นั่นทำให้ความเฉลียงต้องสิ้นสุดลงเพราะเฉลียงคือโลกของความฝัน

ถ้าเราเปรียบเทียบแต่ละเพลงในชุดแรกของเฉลียง คือ ปรากฏการณ์ฝน มาจนถึง ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า จะเห็นความเข้มข้นจริงจังที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ นั่นทำให้หลาย ๆ คนยังคงโหยหาคืนวันอันแสนหวานของชุดแรก ๆ ของเฉลียงอยู่เสมอ

อย่างเพลงเที่ยวละไมคือชีวิตการท่องเที่ยวแบบโบกรถของวัยรุ่นที่เพลงเที่ยวละไมสามารถให้อารมณ์และความรู้สึกที่ตรงจุดมากที่สุด เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนตามต่างจังหวัดผมมักจะนึกถึงเพลงเที่ยวละไมเสมอ

หลังจาก ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า ออกวางแผงโดยไม่มีพี่จุ้ยร่วมงานอยู่ด้วย ผมพยายามหาคำตอบว่า ทำไมเฉลียงจึงหันมามองโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว และทำไมพี่จุ้ยต้องเลือกวางมือจากเฉลียงไป

ผมเพิ่งมาเจอคำตอบจากการไปฟังพี่เค้าในงานนั้นเอง พี่เค้าบอกว่า แม้ความจำของเราจะแย่เพียงไร แต่ความฝันจะต้องยืนยาวเสมอ เราต้องพยายามรักษาความฝันให้คงอยู่ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ มิฉะนั้นแล้วเราคงจะไม่มีพลังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ชีวิตอยู่ได้ด้วยความฝันที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตให้เดินไป

ความฝันของเฉลียงในแต่ละยุคสมัยจึงไม่ต้องเหมือนกัน พี่จุ้ยจึงเลือกออกไปสร้างฝันในแนวทางของตัวเอง

แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งเวลาใด พี่จุ้ยและสมาชิกคนอื่น ๆ ก็พร้อมกลับมารำลึกความฝันสมัยยังเยาว์วัยร่วมกันอยู่เสมอ

คิดถึงเฉลียงครับ

ป.ล. 1 สนใจอ่านนิตยสารไปรยาลใหญ่ฉบับเก่า ๆ บางเรื่องบางตอนได้ที่ http://www.katikala.com/somethingelse/index.html
ป.ล. 2 ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซท์เฉลียง http://www.chaliang.com/gallery.asp

วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เรื่องเล็กในเมืองใหญ่ : ปากซอยโตเกียว

ผมเป็นคนชอบตรอกซอกซอยและถนนมากครับ

จำได้ว่า ตอนเป็นเด็กปอหนึ่ง ซึ่งโตสักนิดพอที่คุณครูจะยอมให้ไปเรียนบนชั้นสองของอาคารไม้ฟากฝั่งนักเรียนชั้นเล็กซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชั้นเตรียมประถม (ปัจจุบันไม่น่าจะมีแล้ว น่าจะเป็นอนุบาลสองหรือสาม) นักเรียนปอหนึ่งและพี่ใหญ่เป็นนักเรียนปอสอง ในขณะที่รุ่นพี่ ๆ คือ ชั้นปอสามถึงมอสามจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งที่มีซอยเล็กคั่นกลาง ทุกครั้งที่เหม่อลอยมองออกนอกห้องเรียนผมมักจะมองลงไปยังบ้านเรือนและซอกซอยที่อยู่รอบ ๆ โรงเรียน ผมรู้สึกว่าโลกทั้งใบอยู่ในมือของผม ผมสามารถจินตนาการได้ว่าผมจะเดินไปในซอยไหน, เดินผ่านบ้านไหน และจะพบเจออะไรบ้าง

เมื่อเรียนชั้นสูงขึ้น ๆ หรือมีโอกาสอยู่บนตึกสูงขึ้น ๆ แค่ไหน โลกในมือของผมก็กว้างใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะทำให้บ้านเรือนดูเล็กกระจ้อยร่อยลงไปเรื่อย ๆ ก็ตามที ผมก็ยังคงจินตนาการว่าได้เดินไปเดินมาในตรอกซอกซอยเหล่านั้น ในโลกแห่งจินตนาการ

แต่ผมไม่ได้หยุดอยู่แค่การมองจากมุมสูง ผมมักจะหาโอกาสเดินซอกแซกไปในตรอกซอกซอยต่าง ๆ ด้วย นาน ๆ ทีก็จะตัดออกสู่ถนนใหญ่เพื่อเยี่ยมเยียนอีกโลกหนึ่ง ขณะเดียวกันผมก็มองหาซอกซอยใหม่ไปในตัวด้วย

นอกจากนี้ ผมยังมีตัวต่อเลโก้ในครอบครองที่ทำให้ผมสามารถสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาได้ เป็นโลกใหม่ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเองในยุคที่คอมพิวเตอร์ตามบ้านยังเป็นเรื่องเล่าในนิยายวิทยาศาสตร์ แม้ท้ายที่สุดของการเล่นในแต่ละวันจะจบลงด้วยการทำลายเมืองจินตนาการนั้นก่อนที่จะสร้างมันขึ้นมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ผมคิดว่าการ์ตูนญี่ปุ่นมีส่วนช่วยสร้างโลกจินตนาการที่ผมชื่นชอบและเสพติดมันมาจนถึงปัจจุบัน การ์ตูนญี่ปุ่นในยุคสมัยผมยังเป็นเด็กไม่ว่าจะเป็นโดเรมอน, ฮาโตริ, ปาร์แมน ได้สร้างภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นให้ผมจินตนาการถึงมัน บ้านโนบิตะหลังเล็ก ๆ มีสวนรอบบ้าน, ถนนจากหน้าบ้านไปสู่ตรอกซอกซอยต่าง ๆ, รถยนต์ที่จอดทิ้งข้างทาง และสวนเล็ก ๆ ที่มีท่อน้ำสามท่อวางทิ้งไว้ ผมชอบตอนที่โดเรมอนกับโนบิตะใช้ใบพัดไม้ไผ่บินขึ้นเหนือท้องฟ้าของเมืองเพราะมันทำให้ผมเห็นเมืองในจินตนาการชัดเจนขึ้น

ถ้าไม่นับการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว อาจจะกล่าวได้ ผมมีความผูกพันกับความเป็นญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานและเหนียวแน่น หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ผมยืมจากห้องสมุดสมัยเรียนชั้นประถมคือหนังสือ “ญี่ปุ่นปัจจุบัน” ในขณะที่หนังสือท่องเที่ยวเล่มแรกที่ผมอ่านสมัยเรียนมัธยมก็เป็นหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นของมนันยา ซึ่งเป็นการเขียนจดหมายจากหลานถึงป้าแหเพื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น รวมถึงนิตยสาร Friend ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนเกี่ยวกับวัฒนธรรม, การเมือง และรูปภาพ ของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถพบหาได้ตามห้องสมุด ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่เราไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายหนังสือและนิตยสารทั่วไป ผมติดตามอ่าน Friend ตั้งแต่เรียนมัธยมจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย และถ้ามีโอกาสก็จะแวะไปอ่านเรื่อย ๆ

ผมบ้าญี่ปุ่นไหมครับ

ผมเพิ่งมีโอกาสไปถึงญี่ปุ่น และโลกของตรอกซอกซอยในจินตนาการซึ่งผมเคยคิดว่ามันเป็นเพียงของเล่นก็กลับกลายเป็นชีวิตจริง สนามเบสบอล, รถยนต์ที่จอดข้างทาง และบ้านหลังเล็ก ๆ

ตรอกซอกซอยคือชีวิตเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าและอาคารขนาดใหญ่ ผมชอบเดินตรอกเพราะผมชอบชีวิตของคนเล็ก ๆ มากกว่าการติดตามชีวิตของคนยิ่งใหญ่คับฟ้า เรื่องราวที่ผมสนใจจึงเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไปและอาจจะหาอ่านได้ค่อนข้างยากในหนังสือท่องเที่ยวญี่ปุ่นทั่วไป ในซอยคุณอาจจะไม่เห็นภูเขาไฟฟูจิ, ไม่เห็นหอคอยโตเกียว, ไม่เจอเรื่องราวของวัดอาซากุสะ แต่ในนี้คุณจะได้พบร้านกาแฟเล็ก ๆ, เห็นวัดเล็ก ๆ สงบ ๆ ที่มองหาคนไม่เจอแม้แต่คนเดียว, พนักงานตัวเล็ก ๆ ในร้านอาหารราคาประหยัดและบางเสี้ยวก็อาจจะแว่บ ๆ เห็นยอดหอคอยโตเกียวที่โผล่เข้ามาบ้างในบางฉากบางตอนแต่ไม่สามารถเข้ามาแย่งซีนได้ (ถ้าไม่เด่นจริง ๆ ในระดับสมชาย ศักดิกุล)

ผมใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียวเพียงแปดวันเท่านั้น แต่เป็นแปดวันที่ผมพยายามเป็นนักเดินทางมิใช่นักท่องเที่ยว ผมไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่าง ๆ ในโตเกียวเพียงไม่กี่แห่ง แต่ผมทุ่มเทเวลาให้กับแต่ละที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มันน่าเสียดายเหมือนกันเพราะผมไม่ได้เที่ยวสถานที่ดัง ๆ หลาย ๆ แห่งแต่ผมคิดว่าวันหนึ่งผมก็น่าจะได้กลับมาใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าใจความเป็นโตเกียวได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ที่จะเที่ยวทั่วโตเกียว เพราะถ้าจะเที่ยวให้ทั่วโตเกียวจริง ๆ อาจจะต้องใช้ทั้งชีวิตเพื่อทำความเข้าใจมัน เหมือนเราพยายามเข้าใจผู้หญิงสักคนหนึ่ง แปดวันในโตเกียวจึงเหมือนเป็นชายหนุ่มที่เพิ่งนัดเจอหญิงสาววันแรก ๆ เพิ่งมีโอกาสออกเดท พูดคุย ทำความรู้จัก แต่ไม่กล้าพูดอะไรมากจึงไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย เพราะนี่เป็นช่วงฮันนีมูนที่ชายหนุ่มเจอแต่ด้านที่สวยงามของหญิงสาว ในขณะที่หญิงสาวก็ได้เห็นแต่ด้านดี ๆ ของชายหนุ่ม แปดวันในโตเกียวจึงมีแต่ความสวยงาม มองไม่เห็นด้านที่ย่ำแย่ มันเป็นช่วงของการสวยผาด แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้พิศและเพ่งมองมัน

ถ้าเปรียบเหมือนการอ่านหนังสือ ผมก็เป็นเด็กที่เพิ่งหัดอ่าน ก ไก่ ข ไข่ แต่ริอ่านจะเขียนประโยคโดยยังไม่เข้าใจไวยากรณ์

แปดวันของการตะลุยตรอกซอกซอย การเที่ยวไปไม่กี่ที่ในแต่ละวัน หรือบางวันก็จมจ่อมอยู่กับที่ที่นั้นไปทั้งวัน อาจจะเห็นด้านลึกบ้าง แต่ก็เป็นความลึกแบบตื้นเขินเพราะยังลงไปไม่ถึงจุดลึกที่สุดของมัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงมุมมองของชายหนุ่มในช่วงฮันนีมูนที่คงไม่สามารถเอาสาระไปอ้างอิงทางวิชาการใด ๆ ได้ ยกเว้นยกขึ้นเพื่อกล่าวถึงความรู้สึกด้านบวกเท่านั้น

ความรู้สึกของคนบ้าญี่ปุ่น บ้าโลกของจินตนาการ และโลกตุ๊กตา เรามาถึงปากซอยกันแล้วครับ

ป.ล. ช่วงนี้ไปญี่ปุ่นหลังจากเพิ่งกลับจากเชียงใหม่ พร้อมกับเจอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงมากมาย ผมพยายามถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น, เชียงใหม่ และเรื่องต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นมาให้อ่านเป็นระยะ ๆ เรื่องราวที่ได้อ่านกันอาจจะเจือปนความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง ถ้าเป็นญี่ปุ่นสอดไส้เชียงใหม่ราดหน้าด้วยซอสแบบกรุงเทพ ๆ ก็อย่าว่ากันนะครับ

วันอังคารที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ความฝันข้าง ๆ ความจริง

ผมพบกับสองเก๋ขณะนั่งเล่นปนทำงานบนชั้นสองของร้านสตาร์บักส์ บนถนนนิมมานเหมินทร์ แหล่งไฮโซล่าสุดของตัวเมืองเชียงใหม่

มันเป็นบ่ายที่สุขสงบ ผมนั่งทำงานและอ่านนิตยสารอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ในขณะที่สองเก๋ก็ทำงานอยู่ที่โต๊ะซึ่งไม่ห่างจากกันมากนัก บ้างก็โทรศัพท์ บ้างก็พูดคุยกัน บ้างก็หยิบเอกสารแผ่นพับขึ้นมาอ่านพิเคราะห์ และบางทีก็หายกันไปพักใหญ่โดยที่อุปกรณ์ในการทำงานยังคงวางทิ้งคาไว้บนโต๊ะ พร้อมกาแฟสตาร์บักส์เย็นบ้างร้อนบ้างวางทิ้งไว้จนเย็นจืดชืด

ผมเดาได้อย่างไม่ยากนักว่า พวกเธอกำลังทำธุรกิจในลักษณะที่เรียกว่าขายตรง หรือธุรกิจแบบมัลติเลเวลทั้งหลายที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาและคนทำงานรุ่นใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯมาอย่างยาวนานกว่าสิบปีที่ผ่านมาโดยมีโมเดลความสำเร็จของรุ่นพี่มงกุฏเงินมงกุฏทองหลายต่อหลายคนเป็นเส้นทางให้ก้าวเดิน อย่างไรก็ตาม ความที่ผมอยู่ห่างจากธุรกิจนี้มากพอสมควรแม้เพื่อน ๆ หลายคนจะลงลึกไปกับธุรกิจนี้มาช้านานแล้วก็ตาม ผมจึงไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของพวกเธอได้อย่างเต็มที่นัก

และเมื่อถึงจังหวะหนึ่ง เราก็ได้พูดคุยกันหลังจากทิ้งระยะห่างเพื่อสร้างความคุ้นเคยจากการแอบลอบดูพฤติกรรมของกันและกันมาหลายชั่วโมง แรกเริ่มพวกเธอเข้าใจว่าผมเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งอาจจะมาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกอย่างจีน, เกาหลี หรือไปไกลถึงญี่ปุ่น แต่เมื่อคำไทย ๆ หลุดจากปากของผมก็สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้พวกเธอได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งสองชื่อเก๋เหมือนกัน เป็นคู่หูต่างวัย โดยเก๋คนหนึ่งเป็นรุ่นน้องของผมสองสามปีในขณะที่อีกเก๋ยังอยู่ในวัยเรียนซึ่งแน่นอนว่าวัยห่างจากผมมาก แม้เก๋แรกจะดูหน้าอ่อนกว่าวัยมาก แต่เมื่อได้พูดคุยก็ทำให้ผมเห็นถึงความคิดที่ไปไกลเกินอายุและแฝงด้วยประสบการณ์ที่เชี่ยวกราก

ผมคิดว่า ทั้งสองเก๋มีสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเธอทำอยู่ที่เหมาะมากกับการเป็นคนทำธุรกิจในลักษณะขายตรงที่เริ่มต้นพวกเขาจะต้องศรัทธาในสิ่งที่พวกเขาทำเสียก่อน

เก๋แรกเป็นศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การที่เธอจบเศรษฐศาสตร์ทำให้วิธีคิดของเธอสร้างความประทับใจให้กับผมซึ่งศรัทธาในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไม่ยากนัก

เธอเล่าว่า เธอไม่เคยทำงานออฟฟิศมาก่อน เธออยากมีกิจการเป็นของตัวเอง อยากเป็นนายตัวเอง นั่นทำให้เธอตัดสินใจเปิดร้านดอกไม้อยู่บนชั้นล่างของโซนร้านค้าให้เช่าซึ่งส่วนหนึ่งก็คือร้านสตาร์บักส์บนถนนนิมมานเหมินทร์นี่เอง ถ้าเรานั่งรถมาตามถนนนิมมานเหมินทร์เราจะเห็นโซนร้านค้าที่มีป้ายร้านสตาร์บักส์โดดเด่นชัดเจน ผมอยากให้คุณเดินมาด้านข้างซึ่งเป็นซอยแล้วเดินตัดเข้าไป จะเห็นร้านขายดอกไม้ร้านหนึ่งชื่อว่า คัลลา (Calla) ซึ่งเป็นร้านดอกไม้ประดิษฐ์เพียงร้านเดียวของโซนร้านค้านี้

ผมทึ่งที่เธอมีความกล้าที่มาเปิดร้านดอกไม้ประดิษฐ์บนถนนนิมมานเหมินทร์นี้ เหตุผลแรก เชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกดอกไม้ นั่นทำให้ราคาดอกไม้สดไม่ได้แพงมากมายนัก การที่คนจะเลือกใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ย่อมมีน้อยกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุผลประการที่สอง ถนนนิมมานเหมินทร์กลายเป็นถนนทองคำไปแล้วในช่วงระยะหลัง ถ้าคุณนึกภาพถนนนิมมานเหมินทร์ไม่ออก ให้นึกถึงทองหล่อครับ นิมมานเหมินทร์คือทองหล่อ ถนนไฮโซของกรุงเทพฯนั่นเอง นั่นหมายความว่า เธอจะต้องแบกรับต้นทุนจากการมาเช่าพื้นที่บนถนนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าไล่เลียงประวัติของเธอ ดูเธอจะพบพานและเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างมาตลอด เธอเรียนเปียโน เธอเรียนรู้การจัดดอกไม้ด้วยตัวเอง และเธอกำลังศรัทธาในธุรกิจขายตรงที่เธอเพิ่งเริ่มต้นมันไม่นานนัก

การจัดดอกไม้ให้สวยนั้น ส่วนหนึ่งต้องมีสิ่งที่เรียกว่า พื้นฐานทฤษฎีการจัดดอกไม้ นั่นคือพรแสวง แต่ความรู้สึกของคนไม่อาจจะใช้ทฤษฎีอธิบายได้อย่างเดียว และความรู้สึกของคนไม่อาจจะนับว่าเป็นสิ่งสากลได้ นั่นทำให้อีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่าสัญชาติญาณล้วน ๆ หรือคือพรสวรรค์กลาย ๆ สามารถอธิบายความความรู้สึกของคนได้ชัดเจนกว่า จริง ๆ แล้วผมก็เป็นคนที่ชอบดอกไม้ ความงามของดอกไม้ทำให้ผมหลงเดินในสวนดอกไม้ได้อย่างยาวนานพอ ๆ กับการไปติดอยู่ในร้านหนังสือ และผมก็เป็นคนชอบเรื่องการจัดดอกไม้มาก เพียงแต่ผมไม่มีทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ ผมจึงทำได้เพียงแค่นั่งดูดอกไม้ที่คนอื่นจัดมาแล้ว และวิพากษ์วิจารณ์แบบไร้เดียงสาอยู่ในใจเท่านั้น

แต่เก๋เล่าว่า เธอเรียนรู้มันด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็อยากจะบอกว่ามันเป็นพรสวรรค์ล้วน ๆ เพียงแต่ว่า ใครจะเดินอ้อมไปด้านในของโซนร้านค้านี้แล้วพบเจอร้านคัลลาของเธอเท่านั้น

ในขณะที่เก๋ที่สองยังเรียนหนังสืออยู่ เพียงแต่เธอมีความมุ่งมั่นที่ต่างจากคนอื่น ๆ ในถิ่นเกิดของเธอ เธอตัดสินใจออกมาหางานทำส่งตัวเองเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อายุ 18 ปีจนตอนนี้เป็นวัยยี่สิบต้น ๆ ซึ่งเท่าที่ผมดู แม้เธอจะอายุน้อย แต่ประสบการณ์ในชีวิตของเธอก็ทำให้เธอกร้าวแกร่ง และดูเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กเพิ่งจบมหาวิทยาลัยที่ผมเห็นตามใจกลางกรุงเทพมหานครอยู่มาก มากจนทำให้ผมรู้สึกเสียดายช่วงเวลาวัยรุ่นวัยเรียนที่เธออาจจะขาดหายไปและอาจจะต้องหันมาสูดปากด้วยความเสียดายในภายหลัง แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกทางเดินของชีวิตได้ เก๋สองจึงเลือกเส้นที่เธออาจจะต้องเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย และต้องรับผิดชอบอะไรอีกมากมายเกินตัว

ผมเห็นเก๋สองทำงานตัวเป็นเกลียวเกือบตลอด ยกเว้นบางช่วงเวลาที่เธอนั่งอ่านนิตยสารแนวซุบซิบดาราอย่างยาวนาน ซึ่งผมคิดว่าวัยอย่างเธอน่าจะแบ่งเวลามาทำเรื่องไร้สาระบ้าง ชีวิตที่เต็มไปด้วยสาระอาจจะทำให้คนเราตกตะกอนเร็วเกินไป ซึ่งจะทำให้คนคนนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงจัง แต่เขาอาจจะขาดประสบการณ์บางอย่างไปได้ วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความล้มเหลวเพื่อจะทำให้พวกเขาไม่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เปราะบาง เพราะพวกเขาเคยล้มจนรู้ว่าล้มแบบไหนเจ็บตัวน้อยที่สุด แต่ถ้าพวกเขาไม่เคยล้มเลย และพวกเขาจะต้องล้มในวัยที่ไม่สามารถล้มได้แล้ว พวกเขาอาจจะไม่สามารถทนอยู่ในโลกแห่งความจริงได้ เพราะโลกของความจริงมันโหดร้ายมาก วัยรุ่นคือโลกของความฝันที่เมื่อเราตื่นขึ้นมาเราจะมีประสบการณ์พร้อมที่จะเผชิญความจริงอย่างไม่เกรงกลัว

เก๋หนึ่งเล่าให้ผมฟังในช่วงหนึ่งที่ทำให้ผมนิ่งคิดอยู่นานขณะเดินลงมาชมร้านดอกไม้ของเธอ เธอบอกว่า ร้านดอกไม้นี้คือความฝัน แต่ความจริงอยู่บนร้านสตาร์บักส์ที่เธอใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งคุยกับเก๋สอง รวมถึงลูกค้าอีกหลายรายที่แวะเวียนมาที่ร้านสตาร์บักส์แห่งนี้ ร้านดอกไม้ไม่ได้สร้างผลกำไรอะไรมากมายนัก แต่เป็นจุดที่ทำให้เธอสามารถสานต่อธุรกิจขายตรงที่สามารถสร้างรายได้ให้เธอได้กว้างขวางออกไปจากเครือข่ายลูกค้าและคนที่แวะเวียนเข้ามา

ที่สำคัญร้านดอกไม้ทำให้เธอสามารถธำรงความฝันไว้หล่อเลี้ยงชีวิตต่อไปได้

ถ้าคุณนึกถึงดอกไม้ หรือของตกแต่งบ้านเวลาคุณมาเที่ยวเชียงใหม่ ผมอยากแนะนำให้คุณลองเดินทางมาที่ถนนนิมมานเหมินทร์แห่งนี้ มาชมความฝันของเธอ และมาทำให้ความฝันของเธออยู่ยืนยาวต่อไปจนกลายเป็นความจริงได้ในที่สุด เพื่อที่เธอจะได้แวะเข้าไปซื้อกาแฟสตาร์บักส์มานั่งดื่มในร้านดอกไม้ของเธอเอง ไม่ต้องไปนั่งหลังขดหลังแข็งพูดคุยแบบไม่รู้จักเหนื่อยบนร้านสตาร์บักส์ มาทำให้ความฝันและความจริงของเธออยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน

ความฝันสวยงามเสมอ เพียงแต่ว่ามันอยู่ที่ไหนเท่านั้นเอง

วันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

คำตอบจากเชิงสะพานพระปกเกล้า



เช้าวันนี้ ผมพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทางการเมืองของประเทศไทย ที่อาจจะยิ่งใหญ่ที่สุดของประชาธิปไตยครึ่งใบไม่เต็มใบที่กำลังจะมีอายุ 75 ปีเต็ม ด้วยการนั่งรถผ่านเชิงสะพานพระปกเกล้าอันเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างน้อย ผมก็พอจะเล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟังได้ว่า เช้าวันนั้น ผมเฉียดเข้าไปใกล้ประวัติศาสตร์มากแล้ว

ผมเคยนั่งคิดว่า ทำอย่างไรเราถึงจะปฏิรูปการเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมคิดไปถึงซีนาริโอที่น่าจะเป็นไปได้ทางหนึ่งคือ ถ้าเรามองว่าระบบมันดีอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่คน การโละทิ้งนักการเมืองไทยทิ้งเสียหมดแล้วล้างไพ่ใหม่หมดก็เป็นทางออกที่น่าจะลงตัว หนทางที่เป็นไปได้ก็คือไปวางระเบิดรัฐสภาขณะที่รัฐบาลกำลังแถลงนโยบายหรือกำลังถูกซักฟอกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย

และเวลานั้นก็มาถึงแล้ว การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญโดยการยุบพรรคทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการขั้นเด็ดขาดโดยการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรมทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปีก็เปรียบเสมือนการวางระเบิดรัฐสภาโดยคนที่เกี่ยวข้องที่ถือว่ามีอำนาจและบทบาทต่อการเมืองไทยปัจจุบันทั้งหลายจะหมดสิทธิ์เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี มันเกือบเหมือนการตายทั้งเป็นเลยทีเดียว นอกจากนี้ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมของไทยครั้งใหญ่ในเรื่องที่ว่า ใครทำผิดก็ต้องได้รับผิด ไม่มีการรอมชอม ซึ่งจะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

จริง ๆ แล้วถ้าคิดอย่างรอบคอบ มันก็ไม่ค่อยเหมือนการวางระเบิดเท่าไรนัก เพราะคนที่จะไม่โดนตัดสิทธิ์ก็ยังมีอีกมากหน้าหลายตา และทายาทอสูรทั้งหลายก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่นี่เป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด อย่างน้อยการเมืองไทยจะอยู่ในภาวะอึมครึม การจะกินรวบละโมบโลบมากก็อาจจะหยุดไปชั่วคราว รอการตกตะกอนให้การเมืองเข้าสู่สมดุลและผลประโยชน์ลงตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ในเวลานี้ผลประโยชน์ของประชาชนจะมีส่วนแบ่งสูงที่สุด

ผมพยายามคิดวิเคราะห์ทางออกหลาย ๆ ทางที่เป็นไปได้แล้ว นี่คือทางออกที่ดีที่สุด อาจจะเจ็บปวด แต่หายชะงัก การรักษาบางครั้งต้องอาศัยยาขม แต่เมื่อดื่มมันเข้าไปแล้ว มันหายได้จริง ๆ

ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปเสียหน่อย แต่มันเป็นฝันกลางฤดูร้อนที่กำลังจะเป็นจริงในยามที่พายุฝนและพายุการเมืองกำลังโหมกระหน่ำประเทศไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา

หลังพายุฝน ท้องฟ้าสดใสกำลังรออยู่ครับ
ป.ล. ขอบคุณสำหรับภาพจากเว็บไซท์ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (http://www2.nesac.go.th/nesac/th/webboard/answer.php?GroupID=3&PageShow=1&QID=90&TopView=)

วันอังคารที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Irresistible 3: จากนีโอ-เปรูถึงวิคตอเรียน

ผมไปดูแฟชั่นโชว์มาครับ

เมื่ออังคารที่แล้ว ผมเพิ่งมีโอกาสไปร่วมงาน Irresistible 3 ที่เซ็นทรัลชิดลมมาครับ เป็นงานแสดงแฟชั่นของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตโดยเป็นผลงานการออกแบบเสื้อผ้าของพวกเขา ผมดูแล้วก็ได้แต่ทึ่งปนงง เพราะแฟชั่นสำหรับผมแล้ว มันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ แต่น่าค้นหา (ดูภาพจากงาน Irresistible 3 ที่ได้ Part 1 และ Part 2 ครับ)

ผมไม่รู้เรื่องแฟชั่นเท่าไรนักหรอก ผมไม่รู้ว่าอะไรที่เหล่าดีไซน์เนอร์เค้าเรียกว่าสวยหรือน่าทึ่ง แต่ผมรู้ว่าดีไซน์เนอร์จะต้องอาศัยแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน ซึ่งผมก็พอจะเข้าใจเรื่องแรงบันดาลใจอยู่บ้าง มันก็คงไม่ต่างอะไรกับแรงบันดาลในการเขียนหนังสือที่บางครั้งมันเขียนไม่ออกเอาเสียเลย ถ้าไม่มีแรงผลักดันอะไรมาช่วย แต่บางครั้งมันก็พรั่งพรูจนเขียนเอาไม่ทันเลยทีเดียว

เหมือนที่ “กุ๋น” หนึ่งในดีไซน์เนอร์และโต้โผจัดงาน Irresistible 3 แอบเล่าให้ผมฟังว่า เขา (หรือเธอ!!!) มองเห็นชุดของสาวชาวเปรูบนหน้านิตยสารท่องเที่ยวเล่มหนึ่ง และกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ นีโอ – เปรู ในที่สุด

เกือบสองปีก่อนผมไปเดินงานแฟชั่นวีค 2005 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์มา ในวันนั้นรัฐบาลทักษิณต้องการยกระดับวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยให้เป็นมากกว่าโรงงานทอผ้าในภาวะที่ต้นทุนค่าแรงงานของไทยเพิ่มสูงจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำอย่างจีนหรือเวียดนามได้ แม้ฝีมือแรงงานของพวกเขาจะยังสู้ฝีมือแรงงานไทยไม่ได้ในตอนนี้ก็ตาม แต่อีกไม่นานความสามารถของแรงงานจีนและเวียดนามจะเพิ่มขึ้น การที่ประเทศไทยจะอาศัยข้อได้เปรียบนี้ในระยะยาวจึงไม่สามารถทำได้

เราจะต้องสร้างมูลค่าของสินค้าให้เกิดขึ้น และสิ่งที่ผสมอยู่ในคำว่าแฟชั่นนี่แหละคือคำตอบครับ

ไม่ว่างบประมาณ 321 ล้านบาทจากภาครัฐบาลในครั้งนั้นที่ต้องการทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองแฟชั่นจะคุ้มทุนหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสื่อมวลชนและชาวบ้านร้านตลาดจะเป็นไปทั้งแง่ดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่ผมคิดว่า นี่เป็นเงินทุนก้อนแรกของการจัดระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมาก จากสินค้าที่ถือว่ามีการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นจากอดีตที่เราเคยเน้นแต่อุตสาหกรรมทอผ้า หรือ รับจ้างผลิตเสื้อผ้า

โดยเฉพาะในปี 2548 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการสิ้นสุดระบบโควตาการส่งออกสิ่งทอที่ประเทศไทยได้รับมากว่า 20 ปี เมื่อนโยบายการค้าเสรีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะต้องเปิดรับการแข่งขันจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็น จีน และ เวียดนาม

เมื่อมองในแง่นี้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวเองไปสู่การสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มแทนการรับจ้างผลิตแต่อย่างเดียว นั่นคือ จำเป็นต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นในแง่การสร้างแบรนด์ใหม่ ๆ หรือในแง่การออกแบบเสื้อผ้าที่มุ่งสร้างตลาดใหม่

จากรายงานของไทยธนาคาร พบข้อเท็จจริง ๆ หลาย ๆ อย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็น

  • ประเทศไทยส่งออกสินค้าแฟชั่นปีละ 300,000 ล้านบาท

  • ประเทศไทยประสบปัญหาในด้านการส่งออก โดยเฉพาะสิ่งทอและรองเท้า ด้วยการแข่งขันในตลาดโลกที่ค่อนข้างรุนแรง กอปรกับการถูกตัดสิทธิ GSP โดยสหภาพยุโรป

  • ส่วนแบ่งตลาดสินค้าแฟชั่นไทยมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ จาก 2.3% ในปี 2539 เหลือ 1.9% ในปี 2543 และ 1.8% ในปี 2545

  • อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมแฟชั่นค่อนข้างน้อย เนื่องจากสัดส่วนการใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ ภาครัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ชัดเจนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคนี้ รวมถึงการเป็นเมืองแฟชั่นโลก ซึ่งผลงานล่าสุด คือ งานแฟชั่นวีค ตลอดสองปีที่ผ่านมานี้เอง

หนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย คือ การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ หรือ คลัสเตอร์ (cluster) ตามแนวคิดของ ไมเคิ่ล อี พอร์ตเตอร์

โดยรัฐบาลมองว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่น มุ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสามประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนัง และ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์การแข่งขันเป็นตัวนำ และจะต้องมีการสนับสนุนให้การผลิตมีการเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร โดยการบริหารจัดการในกลุ่มให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อุปกรณ์ตกแต่ง และส่วนประกอบ โดยมุ่งที่จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

รัฐบาลมองว่า รูปแบบคลัสเตอร์ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลาย ๆ ประเทศใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในอนาคต

ในขณะที่ บีโอไอ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ก็มีการเจาะอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ 5 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับตัวเลขเมื่อปี 2548 จากกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วงเดือน มกราคม ถึง เมษายน 2548 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 77,416.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.5 โดยแบ่งเป็นการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 1,008.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐและสิ่งทอ 1,002.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.2 และ 49.8

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2548 ทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 20 ซึ่งถึงแม้ว่าการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. จะมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 6.5 แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกสิ่งทอไทยจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นมุมมองของภาครัฐ ลองมาดูมุมมองของภาคเอกชนผู้คลุกคลีในอุตสาหกรรมแฟชั่นจริง ๆ ดีกว่า

ในงานแฟชั่นวีคครั้งนั้นผมได้เข้าฟังงานสัมมนาเรื่อง “การสัมมนาเพื่อค้นหาแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งมีประเด็นในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งอยากเล่าให้ฟัง

เค้าบอกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจริง ๆ แล้ว มีมากกว่าที่เราเห็น ๆ กัน เพราะยังมีส่วนประกอบเบื้องหลังของอุตสาหกรรมนี้อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์, ผู้ผลิต, ร้านขายเสื้อผ้า ไปจนถึงแม่ค้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ และประตูน้ำ

พื้นที่ค้าปลีกของสินค้าทุกชนิดในกรุงเทพฯมีทั้งสิ้น 4 ล้านตารางเมตร เฉพาะแค่ในส่วนพื้นที่ธุรกิจศูนย์กลางของกรุงเทพฯ หรือ CBD มีทั้งสิ้น 600,000 ตารางเมตร (ณ วันนั้น)

แต่มีพื้นที่ว่างเพียง 5% เท่านั้น

โดยในปีที่แล้วก็มีพื้นที่ขายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3% เช่น ในห้างสยามพารากอนที่กำลังก่อสร้างอยู่ รวมถึงใน Central World

ในพื้นที่ทั้งหมด 4 ล้านตารางเมตรนั้น เป็นสินค้าแฟชั่นไปถึง 30% (ถ้าไม่เชื่อ ลองไปเดินสยามดูสิครับ จะเจอมากกว่า 30% แน่ ๆ)

ซึ่งพื้นที่สำหรับสินค้าแฟชั่นนี้ มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีตที่เป็นร้านตัดเสื้อ หรือ ห้องเสื้อ ต่อมาย้ายไปอยู่บนห้างสรรพสินค้า, ช้อปปิ้งมอลล์, เมกะสโตร์, ดิสเคาน์สโตร์

สำหรับในอนาคต พื้นที่ขายสินค้าจะพัฒนาไปสู่สามรูปแบบใหม่ คือ Concept Store, Flagship และ Guerrilla หรือ Pop up Store

Concept Store จะเป็นร้านที่นำสินค้ามาขายจำนวนน้อย คือ 2 – 3 ชิ้น โดยทางร้านจะคัดเลือกจากแฟชั่นชุดใหม่ ๆ, คอลเล็กชั่นพิเศษ และจะมาจากหลากหลายยี่ห้อ โดยในร้านจะมีสินค้าที่หลากหลายเช่นกัน ตั้งแต่ ซีดี, แฟชั่น, เครื่องใช้สำนักงาน, อาหาร และ อื่น ๆ

สำหรับ Flagship เป็นร้านเฉพาะที่อาจจะสร้างโดยเจ้าของแบรนด์สักแบรนด์หนึ่ง เช่นร้าน Celux Club บนถนน Ometesando ในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นถนนแฟชั่น ร้านนี้เป็นของหลุยส์ วิตตอง ซึ่งการเข้าร้านนี้ มิใช่เข้าง่าย ๆ ครับ จะต้องเป็นสมาชิกก่อน โดยต้องจ่ายค่าสมาชิก 2,000 เหรียญสหรัฐ และในการเข้าก็จะต้องมีการ์ดสำหรับรูดเข้า โดยภายในนั้นจะมีทั้งเลาจ์ และร้านให้ช้อปปิ้งซื้อสินค้า

สำหรับสมาชิก จะได้รับสิทธิพิเศษ ได้แก่ การซื้อผลิตภัณฑ์ล่าสุดของหลุยส์ วิตตอง หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น การได้ดูภาพยนตร์ดัง ๆ ก่อนคนอื่น หรือมีการแสดงนิทรรศการศิลปะพิเศษต่าง ๆ

สำหรับรูปแบบสุดท้าย คือ Guerrilla ที่เป็นร้านที่จะไปเปิดในที่ว่างสักแห่งหนึ่งในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ค, ลอนดอน, โตเกียว, เซี่ยงไฮ้, ปารีส, เบอร์ลิน, สต็อกโฮม หรือ แอลเอ เป็นต้น โดยร้านจะเปิดระยะสั้น เช่น หนึ่งเดือน หรือ ไม่เกินหนึ่งปี และสถานที่ที่จะเปิดจะไม่มีการบอกล่วงหน้า แต่อาจจะใบ้ให้แฟน ๆ ที่ติดตามร่วมสนุกโดยการทายว่า ครั้งต่อไปร้านจะไปเปิดที่ไหน และต้องไปหาดูเองว่าเปิดจริงหรือไม่

ซึ่งจะมีแฟนกลุ่มหนึ่งที่คอยติดตามและร่วมค้นหาร้านเหล่านี้

สำหรับสินค้าจะเป็นสินค้าที่ทำมาจำนวนจำกัด มีไม่กี่ชิ้น ( limited Edition) และสินค้าอาจจะมาจากแบรนด์ชั้นนำ หรืออาจจะมาจากดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ หรือแบรนด์สร้างใหม่ก็ได้ แต่สินค้าจะมีความโดดเด่นและบางชิ้นเอาไว้โชว์เท่านั้น ไม่ได้ไว้ขาย สินค้าที่ขายในร้านพวกนี้จึงมีราคาแพง และหายาก

ร้านแบบนี้จึงมิได้อิงกับตำราทางด้านการตลาดใด ๆ บนโลก เพราะ ถือว่า ยิ่งร้านหายาก ยิ่งดี

สำหรับแนวโน้มของร้านขายปลีกสินค้าแฟชั่นมีสามแนวโน้มที่สำคัญ คือ

Cross Over คือ เป็นไปในทางลูกผสม ในร้านจะไม่ได้มีแค่สินค้าแฟชั่นพวกเสื้อผ้า, รองเท้าเท่านั้น แต่จะมีสินค้าด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, โรงแรม นั่นคือ กำแพงระหว่างอุตสาหกรรมจะลดลง ผู้นำในวงการแฟชั่นจะเริ่มก้าวออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อมาร์นี่ และ เวอร์ซาเช ที่เข้าสู่ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

Less is More สินค้าแนวแฟชั่นไม่จำเป็นต้องผลิตมาจำนวนมากตามแบบแนวคิดของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผลิตไม่กี่ชิ้นก็สามารถขายได้ ถ้ารูปแบบสะดุดตาผู้ซื้อ ในกรณีนี้ Economy of Scale จึงไม่สามารถใช้อธิบายได้

Small is Beautiful ร้านเล็ก ๆ หรือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กจะสามารถสู้กับรายใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมได้มากขึ้น

เคยมาเดินสีลมตอนกลางคืนไหมครับ โดยเฉพาะตรงแถว ๆ หน้าตึกซิลลิคเฮาส์ เลยซอยศาลาแดงไปทางสถานีรถไฟใต้ดินน่ะครับ ดึก ๆ จะมีหนุ่มสาวหลายคนมานั่งปูผ้าแบกะดินขายของ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของประดับ และอีกหลาย ๆ อย่าง ผมเห็นแววตาพวกเขาแล้วมันมีไฟฝันอยู่ข้างใน

เหมือนน้อง ๆ ดีไซน์เนอร์ในงาน Irresistible 3 นี่แหละ พวกเขากำลังจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ อีกหลาย ๆ คน

รวมถึงตัวผมด้วย

อ่านเพิ่มเติม:
1. “บางกอกแฟชั่นวีก… “WEAK” จริงๆ !?!”, ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 สิงหาคม 2548
2. สำนักวิจัยและวางแผน ไทยธนาคาร, รายงานภาวะตลาดและเศรษฐกิจรายสัปดาห์: อุตสาหกรรมแฟชั่น ในสถานการณ์สงครามและยุทธศาสตร์การแข่งขัน, 18 กุมภาพันธ์ 2546
3. อัจฉรา วรศิริสุนทร, คลัสเตอร์อุตสาหกรรม: ความสำเร็จที่รอเวลาพิสูจน์, Special Report, ธนาคารกรุงเทพ, 7 กรกฎาคม 2547
4. สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2, ชัยชนะอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมบนเส้นทางคลัสเตอร์ (Cluster)
5. “การสัมมนาเพื่อค้นหาแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น”, Bangkok Fashion Week 2005
6. ยอดส่งออกสิ่งทอไทยขยายตัว, หนังสือพิมพ์ โลกธุรกิจ, วันที่ 7 กรกฎาคม 2548

หมายเหตุ: บทความนี้บางส่วนถูกเขียนขึ้นเมื่อเกือบสองปีก่อนภายหลังจากเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคปี 2005 ทำให้ข้อมูลที่อ้างอิงอาจจะเก่าไปบ้าง และอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเท่าไร และขอขอบคุณรูปภาพจาก ThaiCatwalk.com