สำหรับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมติดตามความเป็นไปของประเทศลาวผ่านหน้าหนังสือ, ภาพยนตร์, เพลง หรือสื่ออื่น ๆ อีกมากมาย แต่นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากภายนอก ผมอยากรู้จริง ๆ ว่า คนลาวมองประเทศของพวกเขาอย่างไรบ้าง ผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ผมจึงตัดสินใจไปเที่ยวเพื่อหวังจะได้ไปซื้อหาหนังสือโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารของคนลาว
แต่เมื่อไปถึง ผมพยายามมองหาร้านหนังสือพิมพ์และร้านหนังสือตามท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองที่เจริญสุดขีดของลาวอย่าง เวียงจันทร์และหลวงพระบาง แต่ผมกลับไม่เจอร้านหนังสือเลย สุดท้าย ผมไปได้หนังสือแนวประวัติศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ที่เวียงจันทร์มาแทน ซึ่งหนังสือเหล่านั้นมีราคาแพงมาก แพงในระดับที่ผมต้องตั้งคำถามว่า หรือหนังสือเป็นของหายากที่นั่น และหนังสือเหล่านั้นก็เป็นภาพสะท้อนที่มีต่อลาวในยุคสมัยเก่า ไม่ได้พูดถึงแม่หญิงลาวในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ผมสงสัยได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผมก็ตัดสินใจซื้อมา เพราะมั่นใจว่า ผมคงจะไปหาหนังสือเหล่านี้ที่เมืองไทยหรือบนอเมซอนดอทคอมไม่ได้แน่นอน แม้แต่นิตยสารสองสามเล่มของลาวที่ผมอ่านเจอในสื่อของไทยเขียนถึงนั้น เมื่อไปถึงลาว หนังสือเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่าไปซ่อนอยู่แห่งหนตำบลใด
ผมจึงกลับบ้านพร้อมกับหนังสือประวัติศาสตร์ลาวสองสามเล่มติดมือมา พร้อมกับคำถามที่คาใจว่า คนลาวไม่อ่านหนังสือกันเหรอ
แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 มีนาคม 2552) ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “โอทอง อินคำซู” เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2008 จากประเทศลาว โดยได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” บทสัมภาษณ์ของเขาทำให้คำถามที่คาใจหลาย ๆ คำถามจางหายไป
รางวัลซีไรต์นี้ ทุกปีจะแจกให้กับนักเขียนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 คนจาก 10 ประเทศในกลุ่ม ซึ่งของไทยเรา ปีนี้รางวัลเป็นของรวมเรื่องสั้นชุด “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” ของ วัชระ สัจจะสารสิน เล่มนี้ผมอ่านแล้ว เขียนดีมากจริง ๆ ครับ
กลับมาที่บทสัมภาษณ์ ฮุ่งอะลุน บอกผมว่า เขาทำงานเป็นบรรณาธิการ “วารสารวรรณศิลป์” ของกระทรวงวัฒนธรรมของลาว ซึ่งเป็นวารสารที่พูดถึงวัฒนธรรมในรูปสารคดี โดยมีเรื่องสั้น และกาพย์กลอนปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังพิมพ์หนังสือด้วย
นี่เป็นข่าวดีของผม และช่วยตอบข้อสงสัยของผมว่า จริง ๆ แล้ว ประเทศลาวมีนิตยสารบ้างเหมือนกัน และมีแน่นอน เพียงแต่ว่า ผมหามันไม่เจอเอง
นอกจากนี้ ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า มีองค์กรต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในลาวพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กออกมาด้วย โดยหนังสือสำหรับเด็กปัจจุบันขายดีกว่าหนังสือทั่วไป เพราะเยาวชนลาวกำลังตื่นตัวเรื่องการอ่านมาก
ฮุ่งอะลุน ยังบอกอีกว่า ตัวเลขการอ่านหนังสือของเด็กลาวเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเด็ก ๆ จะอ่านนิทาน เรื่องสั้น ยกตัวอย่างเช่น “กอไผ่พูดได้” ก็เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชนะการประกวดและถูกตีพิมพ์จำหน่าย
นอกจากหนังสือที่ลาวตีพิมพ์เองแล้ว ยังมีการส่งเสริมการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดด้วย ซึ่งก็เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เด็กลาวได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ผ่านตัวหนังสือจากต่างประเทศด้วย
แม้ทางการจะห้ามเอกชนพิมพ์หนังสือขาย แต่ก็อนุญาตให้บุคคลสามารถพิมพ์หนังสือได้ โดยต้องผ่านการตรวจสอบของรัฐบาล และสำนักพิมพ์ของรัฐบาลจะเป็นผู้พิมพ์เอง
ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า ปัจจุบันเด็ก ๆ ชาวลาวก็อ่านหนังสือการ์ตูนเหมือนกัน แต่จะอ่านที่เป็นภาษาไทยมากกว่า เพราะยังไม่มีคนมาลงทุนแปลเป็นภาษาลาวอย่างจริงจัง สำหรับภาษาไทยนี้ คนลาวโดยเฉพาะคนลาวรุ่นใหม่ ๆ จะฟังพูดได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ สำหรับภาษาไทยก็มีตัวอักษรไม่ต่างจากภาษาลาวเท่าไรนัก เพราะผมเองก็พอจะอ่านหนังสือภาษาลาวได้ โดยจับใจความได้เกินแปดสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หนังสือการ์ตูนภาษาไทยในประเทศลาวจึงมีการนำไปขายค่อนข้างมากเช่นกัน แต่ผมก็หาร้านหนังสือการ์ตูนนี้ไม่เจอเหมือนกัน
เมื่อปีกลาย น้องคนที่ชวนไปเที่ยวลาวก็มาเล่าถึงโดราเอมอนเวอร์ชั่นภาษาลาวที่เขาไปเจอในงานสัปดาห์หนังสือมา นี่ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่บอกให้รู้ว่า โดราเอมอนกำลังจะไปอยู่ในหัวใจของเด็กลาวทุก ๆ คน และอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า หนุ่มสาวชาวลาวก็จะมานั่งนึกย้อนอดีตวัยเยาว์กับความฝันที่จะได้เดินทางไปไหนมาไหนด้วยไทม์แมชชีนและคอปเตอร์ไม้ไผ่เหมือนผมในทุกวันนี้
ถ้ามองถึงตลาดหนังสือลาวในประเทศไทยเอง ก็จะเห็นหนังสือของคนลาวตีพิมพ์อยู่เนือง ๆ อย่างหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ซิ่นไหมผืนเก่า ๆ” ของ ฮุ่งอะลุน นี้ก็จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ก็จะมีหนังสือเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวลาวโดยเฉพาะเมืองเวียงจันทร์, หลวงพระบาง, ลาวใต้ และที่กำลังมาแรงคือ วังเวียง วางขายในท้องตลาดมากขึ้น ๆ
ฮุ่งอะลุน ยังบอกว่า การเป็นนักเขียนในประเทศลาวก็ไส้แห้งเหมือนในประเทศไทย แต่ปัจจุบันถ้าสังเกตกันดี ๆ ประเทศไทยเริ่มมีนักเขียนอาชีพ (แต่เป็นนักเขียนมืออาชีพหรือไม่ ไม่มีความเห็นครับ) มากขึ้นเรื่อย ๆ นักเขียนอาชีพในที่นี้หมายถึง การหาเลี้ยงชีพโดยการเขียนหนังสือเป็นหลัก ซึ่งสำหรับประเทศลาวนั้น ยังเป็นเรื่องยากอยู่ ถ้านักเขียนคนนั้นอยากเลี้ยงลูกเมีย พวกเขาต้องมีอาชีพหลักที่ไม่ใช่อาชีพนักเขียน เช่น อาจจะเป็นข้าราชการ, นักธุรกิจ, แพทย์ หรือ นักบิน การเขียนหนังสือจึงเป็นช่องทางในการระบายอารมณ์ความรู้สึก ที่อาจจะไม่สามารถพูดหรือสื่อออกมาได้โดยตรง แต่ทำได้อ้อม ๆ ผ่านการเขียนหนังสือ หรืออาจจะมองอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อท้องเริ่มอิ่ม เราก็เริ่มมองหาสิทธิ์พื้นฐานส่วนบุคคลหลาย ๆ อย่างที่เราขาดไป เหมือนอย่างคนในกลุ่มอาชีพที่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักธุรกิจ หรือแม้แต่ข้าราชการเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งก็กลับมาเขียนหนังสือ และเรียกร้องสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของพวกเขา
ท่านวิเศษ แสวงศึกษา ซีไรต์ชาวลาวปี 2545 ก็เคยบอกว่า “ข้าพเจ้ามีอยู่ 2 อาชีพ อาชีพหนึ่งที่ข้าพเจ้ารักคือ การขีดการเขียน แต่ว่าอาชีพที่สองคืออาชีพที่คนอื่นบังคับให้ทำ”
ผมเองเคยคิดว่า เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่เคยพูดวลีที่ว่า “แมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้” นั้น เขาอาจจะเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง แต่เขาอาจจะคิดว่า เสรีภาพควรจะเกิดขึ้นกับคนที่อิ่มท้องแล้วเพราะเป็นเสรีภาพที่มีเหตุมีผล เขาเลยคงระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ไว้ และเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวก่อน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มตัว ประชาชนเริ่มอิ่มท้อง ความคิดเรื่องการเรียกร้องสิทธิ์ส่วนบุคคลหลาย ๆ อย่างก็จะกลับมา และจะเป็นการเรียกร้องอย่างเข้าใจผ่านการเรียนรู้เศรษฐกิจเสรีแล้วนั่นเอง เพียงแต่ว่า เหล่าผู้กุมอำนาจในรัฐบาลจีนจะใจกว้างพอที่จะคืนอำนาจเหล่านั้นให้กับประชาชนได้หรือไม่
จะว่าไป คนลาวก็บ้าหนังสือรางวัลซีไรต์เหมือนคนไทย เพราะ ฮุ่งอะลุน บอกว่ายอดขายของหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์จะอยู่ในระดับแถวหน้า รางวัลซีไรต์จึงอาจจะเป็นใบเบิกทางและเป็นการเปิดโลกการอ่านให้กับคนลาวทั้งประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
พูดถึงตลาดหนังสือของประเทศลาวแล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงตลาดหนังสือไทยสมัยก่อน ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ต่างจากตลาดหนังสือของลาวเท่าไรนัก รอเพียงสังคมพร้อมจะเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง สังคมอุดมปัญญาก็คงเกิดขึ้นในสังคมลาวอย่างแน่นอน
ไม่นานนับจากนี้
ป.ล. ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์ “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล ข้ามโขงมาเล่าเรื่อง... ซีไรต์ลาว 2008” ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552 หน้า 17 – 18