วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Live 8: บ๊อบ เกลด็อฟ, โบโน และ เจ็ฟฟรี่ ซาคส์

วันก่อนเห็นข่าวโบโนในหนังสือพิมพ์แต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร พยายามกลับไปค้นหาก็ยังหาไม่เจอ น่าจะเกี่ยวกับการได้รางวัลอะไรสักอย่าง พูดถึงโบโนแล้วพาลให้นึกถึงผลงานของเขาทางด้านการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทุกครั้งไปแม้เราจะไม่ใช่แฟนเพลงของเขาก็ตาม

ผมรู้จักยูทู (U2) และ โบโน มานานพอสมควร แต่ผมเพิ่งติดตามอย่างจริงจังก็เมื่อเขาเคลื่อนไหวอย่างอึกทึกครึกโครมในฐานะตัวแทนของกลุ่มจูบิลี 2000 (Jubilee 2000) ก่อนที่จะจางหายไประยะหนึ่ง

โบโน กลับมาอยู่ในความสนใจของผมอีกครั้ง เมื่อมีการจัดคอนเสิร์ต Live 8 ซึ่งถือเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการเพลงของโลก ในช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ G8 ที่ประเทศสก็อตแลนด์เมื่อสองปีก่อน พร้อม ๆ กับที่ผมเพิ่งได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ Jeffrey Sachs ชื่อหนังสือ The End of Poverty: How we can make it happen in our life time ซึ่งมีโบโนเขียนคำนิยมให้ด้วย

นักดนตรี กับ นักเศรษฐศาสตร์ ดูจะเป็นเส้นขนานที่บรรจบกันไม่ค่อยได้ เพราะ ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันนัก แต่เมื่อนักดนตรีอย่างโบโนก้าวเท้าเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงแทนประเทศอาฟริกาที่ยากจนข้นแค้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ก็อดรนทนไม่ได้ที่จะนั่งฟัง ทางหนึ่ง พวกเขาอาจจะถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพ แต่ทางหนึ่ง พวกเขาอาจจะยอมรับนับถือว่า นักดนตรีก็สามารถเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้เหมือน ๆ กัน

คู่หูใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์ อย่าง เจ็ฟฟรี่ ซาคส์ และ โบโน จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์ที่ดึงนักวิชาการบนหอคอยงาช้างและนักดนตรีร็อคบนเวที ให้ลงมาคลุกคลีกับประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง

โบโน เป็นตัวตั้งตัวตีของกลุ่มจูบิลี 2000 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มโออีซีดี (OECD – Organization for Economic Cooperation and Development) ให้ยกหนี้ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา หรือ พัฒนาต่ำมาก ซึ่งเรียกว่า LDC (Least Developed Countries) เพื่อเฉลิมฉลองการครอบรอบสหัสวรรษ เมื่อห้าปีก่อน โบโนเขียนคำนิยมในหนังสือของ ซาคส์ ถึงประเทศต่าง ๆ ในโลกในแง่การพัฒนาว่า เหมือนซุป ที่ถ้าเราจัดสรรปันส่วนอย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมทำให้ซุปหม้อนี้สามารถแบ่งปันให้คนกินได้มากกว่าปัจจุบันที่การกระจายการเติบโตมีต่ำ และกระจุกตัวอยู่กับประเทศมหาอำนาจไม่กี่ประเทศเท่านั้น

เช่นเดียวกับ บ็อบ เกลดอล์ฟ

วันนั้นผมนั่งดูคอนเสิร์ตที่ถ่ายทอดมาให้ชมกันที่ประเทศออสเตรเลีย โดยช่วงหนึ่ง ณ เวทีคอนเสิร์ตที่ไฮด์ปาร์ก บ็อบ เกลด็อฟ (Bob Geldof) ทำให้เหล่าผู้ชมคอนเสิร์ตกว่าสองแสนคนเงียบเสียงลงด้วยการฉายภาพเด็กหญิงชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งที่กำลังจะตายในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังจากหยุดภาพนั้นไว้ Birhan Woldu หญิงสาววัย 24 ปีที่เพิ่งเรียนจบทางด้านเกษตรกรรม และเป็นเด็กคนเดียวกับที่กำลังจะตายคนนั้นก็ปรากฏตัวขึ้น บนเวทีคอนเสิร์ต พร้อมสภาพร่างกายที่สมบูรณ์และเป็นสาวแล้วในปัจจุบัน
ครั้งหนึ่ง บ็อบ เกลด็อฟ ได้มีโอกาสนั่งดูสารคดีของบีบีซีซึ่งกล่าวถึงความยากจนในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งได้ทำให้บ็อบเกิดแรงบันดาลใจในการร่วมกับเหล่าศิลปินบนเกาะอังกฤษจัดทำซิงเกิ้ล Live Aid ชื่อว่า Do They Know It’s Christmas และภายหลังได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคอนเสิร์ต Live Aid ในปีถัดมา

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บ็อบ ก็ได้ร่วมช่วยเหลือทางด้านการเงินมูลค่าหลายล้านเหรียญแก่ประเทศในทวีปอัฟริกา

ประเทศในทวีปอัฟริกาถือเป็นหนึ่งในสามของกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก นอกจากนี้ โรคเอดส์ยังแพร่กระจายไปทั่วโดยพบว่า 40% ของเด็กอายุ 15 ลงไปในอัฟริกาตะวันตกสูญเสียมารดา หรือ ทั้งบิดาและมารดาไปกับโรคนี้

ปี 1999 เกลด็อฟสืบสานโครงการต่อสู้กับความหิวด้วยการจัดคอนเสิร์ตในชื่อว่า Net Aid online concerts ซึ่งได้ต่อเนื่องจากกลายมาเป็นคอนเสิร์ต Live 8 ในปีนี้

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บ๊อบ เกลด็อฟ ก็ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐสภาประเทศนอร์เวย์สำหรับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2006 ซึ่งจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีหน้า ในฐานะที่อุทิศตนให้กับมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทในการเรียกร้องให้มีการปลดหนี้และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อลดปัญหาความยากจนในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม บ็อบ เกลด็อฟ เคยได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัลโนเบลสันติภาพมาแล้วเมื่อปี 1986 ซึ่งครั้งนั้นเขาจัดการแสดงคอนเสิร์ต Live Aid ซึ่งสามารถรวบรวมเงินได้มากกว่า 130 ล้านเหรียญออสเตรเลีย และในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เซอร์ บ็อบ เกลด็อฟ โดยราชินีอลิซาเบ็ทที่สอง แห่งอังกฤษ

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้กระแสขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือชาวอัฟริกาดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้ คือ เจ็ฟฟรี่ ซาคส์

ซาคส์เป็นผู้อำนวยการของ Earth Institute ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นอกจากนี้ ซาคส์ ยังเป็นที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี่ อันนัน และดูแลโครงการ Millennium Project ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติที่รวบรวมนักเศรษฐศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาต่าง ๆ โดยโครงการนี้ได้วางแผนที่จะลดความยากจนและความหิวทั่วโลกให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 โดยเรียกร้องประเทศร่ำรวยให้เพิ่มการช่วยเหลือทางการเงินเป็นสองเท่าแก่ประเทศยากจน ซึ่งวิธีการนี้ ซาคส์ ยืนยันว่าได้ผล และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ยกย่องซาคส์ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก

ซาคส์เดินทางเพื่อทำงานพร้อม ๆ กับแสวงหาคำตอบในการแก้ไขความยากจนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งในละตินอเมริกา, ยุโรปตะวันออก, อดีตสหภาพโซเวียต, เอเชีย และ อัฟริกา ซาคส์มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้นำในประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและกำจัดความยากจนมากว่ายี่สิบปี และทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ประสบการณ์เกือบทั้งชีวิตของเขา ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า The End of Poverty: How we can make it happen in our life time ที่ซึ่งเขาฉายภาพให้เห็นว่า ความยากจนถูกกำจัดลงไปได้อย่างไรในอดีต, เราจะสามารถช่วยเหลือคนหนึ่งในห้าของโลกที่ยังยากจนข้นแค้นได้อย่างไร และ เราจะสามารถอาศัยเพื่อนร่วมโลกที่มีฐานะดีมาช่วยให้หลุดจากกับดับแห่งความยากจนได้อย่างไร

โบโนยกย่องหนังสือเล่มนี้ว่า นี่คือก้าวที่สำคัญของการเดินทางไปสู่ความเท่าเทียมกัน

คอนเสิร์ต Live 8 เป็นการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างพลังประชาชนกับผู้นำระดับโลก ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนได้หรือไม่

คอนเสิร์ตครั้งนี้มีสโลแกนว่า “ทำความยากจนให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์บทหนึ่ง (Make poverty history)”

โดย บ็อบ เกลด็อฟ เป็นแกนนำสำคัญในการจัดคอนเสิร์ตที่มีเป้าหมายในการเน้นถึงปัญหาความยากจนและกดดันเหล่าผู้นำระดับโลกให้แสดงบทบาทในการต่อสู้กับปัญหาความยากจน

เวทีคอนเสิร์ตสิบแห่งในสี่ทวีป ซึ่งรวบรวมนักร้องทั้งป็อบและร็อกกว่า 200 คน กับการแสดงรวมกันเกือบ 70 ชั่วโมง เพื่อที่จะส่งสัญญาณไปยังเหล่าประเทศที่ร่ำรวยของโลกให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวอัฟริกัน

คอนเสิร์ตครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมชมมากกว่าหนึ่งล้านคน และคาดว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์อีกกว่า 2,000 ล้านคน และ คนอีก 26 ล้านคนทั่วโลกส่งข้อความเพื่อแสดงความสนับสนุน ซึ่งถือเป็นการทำสถิติใหม่สำหรับการจัดกิจกรรมเพียงงานเดียว

โดยเป็นการส่งสัญญาณไปถึงเหล่าผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมของโลกแปดประเทศ หรือ Group of Eight industrialised countries หรือ กลุ่ม G8 ซึ่งกำลังจะจัดประชุมกันที่เมือง Gleneagles ประเทศสก็อตแลนด์ ในวันพุธถัดมา เพื่อกดดันให้มีการยกเลิกหนี้ทางการค้าและเพิ่มการช่วยเหลือประเทศในทวีฟอัฟริกาเป็นสองเท่า

สำหรับสถานที่ทั้งสิบแห่งล้วนเป็นจุดสำคัญ ๆ ของประเทศและทวีปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังแวร์ซายล์ (Chateau de Versailles) ใกล้กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, Circus Maximus ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และ จตุรัสแดง (Red Square) ในกรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย เป็นต้น

โดยมีไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) ในกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางของการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ เวทีคอนเสิร์ตที่ไฮด์ปาร์กจะรวบรวมนักดนตรีระดับสุดยอดของโลกไว้ ไม่ว่าจะเป็น พอล แม็คคาร์ตนีย์ (Paul McCartney), โบโน (Bono), มาดอนน่า (Madonna), เอลตัน จอห์น (Elton John), วงพิงค์ฟลอยด์ (Pink Floyd), เดอะฮู (The Who) และ จอร์จ มิเชล (George Michael) โดยมีผู้ชมกว่า 200,000 คนเข้าร่วมในการแสดงยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีเวทีคอนเสิร์ตในเมืองบาร์รี่ ประเทศแคนาดา, ฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศอัฟริกาใต้ และ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ในขณะเดียว ก็มีการรวมตัวของประชาชนกว่า 200,000 คนเพื่อเดินขบวนไปยังจุดที่มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ G8 ซึ่งถือเป็นการรวมตัวของประชาชนทางการเมืองที่เยอะที่สุดที่เคยมีมาในเมืองหลวงของประเทศสก็อตแลนด์

พร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของเหล่าประชาชน การรณรงค์เพื่อช่วยชาวอัฟริกาครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อทวีปอัฟริกา (Commission for Africa) และ โครงการ Millennium Project ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของสหประชาชาติ ซึ่ง เจฟฟรี่ย์ ซาคส์ ดูแลอยู่

นอกจากนี้ คอนเสิร์ตครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์, โคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) เลขาธิการสหประชาชาติ, เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีของประเทศอัฟริกาใต้ และ เหล่านักดนตรีและดาราชื่อดังทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม คอนเสิร์ต Live 8 ในครั้งนี้จะแตกต่างจาก คอนเสิร์ต Live Aid ที่จัดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งครั้งนั้นมุ่งที่จะรวบรวมเงินบริจาคเพื่อไปช่วยแก้ปัญหาความอดอยากของชาวอัฟริกา ในขณะที่ Live 8 ต้องการที่จะกดดันให้รัฐบาลประเทศที่ร่ำรวยเพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศอัฟริกาเป็นสองเท่า, ยกเลิกหนี้สิน และ กำหนดกฎเกณฑ์ในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คอนเสิร์ต Live 8 ก็เป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงว่า เงินบริจาคที่ได้มาจะก่อให้เกิดการคอรัปชั่นมากยิ่งขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเสรีนิยมก็เห็นว่า การช่วยเหลือรังแต่จะก่อให้เกิดโทษมากกว่าคุณ โดยพวกเขาเห็นว่า การเปิดเสรีทางการค้า ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเสรีเท่านั้น แต่ทำให้คนเสรีขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนและ อินเดีย ที่แสดงให้เห็นผลของการเปิดเสรีอย่างชัดเจน โดยประชาชนส่วนหนึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในขณะที่บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Courier-Mail ของออสเตรเลียเสนอให้ทำทั้งสองทาง คือ ทำตามเป้าประสงค์ของคอนเสิร์ต Live 8 และเปิดเสรีทางการค้าไปในตัวด้วย โดยให้เหตุผลว่า เมื่อตลาดเปิด โดยเฉพาะการเข้าถึงทางการเกษตร ความช่วยเหลือจะสามารถเปิดช่องทางเข้าสู่การเพาะปลูกใหม่ ๆ, ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และ สนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ท้าทายคือ การปฏิรูปนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายของประเทศร่ำรวย

ซึ่งก่อนหน้าคอนเสิร์ต ทางรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G8 ก็ได้ตกลงที่จะปลดหนี้ระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่จนที่สุดในโลก 18 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปอัฟริกา เป็นจำนวนถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายอัฟริกันของประเทศอังกฤษ พวกเขาจะทุ่มเทเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกให้มากขึ้น และจะยกเลิกการสนับสนุนทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการตลาด ซึ่งการสนับสนุนทางการเกษตรนี้มีในประเทศสี่ในแปดประเทศผู้นำของโลก คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ อิตาลี การยกเลิกครั้งนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างหนักในกลุ่มประชาคมยุโรป ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ยังอึกอักที่จะทำตามอย่างประเทศอังกฤษ โดยอ้างว่า เงินไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียวของการแก้ไขปัญหา

ใครบ้างจะสังเกตว่า แบรด พิตต์ ก็ได้ขึ้นไปกล่าวบนเวทีคอนเสิร์ต Live 8 ในกรุงลอนดอนเพื่อเรียกร้องผู้ชมให้หันมาสนใจความยากลำบากของชาวอัฟริกัน ในขณะที่ แองเจลินา โจลี่ ก็ได้อุ้มลูกบุญธรรมชาวอัฟริกาขึ้นเวทีคอนเสิร์ต Eden Project ที่ St Austell อีกมุมหนึ่งของประเทศอังกฤษ

ประโยคเท่ ๆ ของ โบโน บนเวทีคอนเสิร์ตที่ไฮปาร์คยังคงติดตรึงใจผมอยู่จนถึงวันนี้

“นักร้องเพลงร็อกและฮิบฮ็อบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่คนดูอย่างพวกคุณสิสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้

“พวกเราไม่อยากให้พวกคุณมัวแต่เอามือล้วงกระเป๋าตัวเองไว้เฉยๆ แต่พวกเรากำลังร้องขอให้ทุกคนกำมือแล้วชูขึ้น”

ผมกำมือและชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วครับ คุณล่ะ ชูหรือยัง


อ่านเพิ่มเติม:
1. ‘Live 8 rocks the globe to end Third World debt’, หนังสือพิมพ์ The Courier-Mail ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2005 หน้า 1 และ 4
2. ‘Rock’ n’ Roll can change the world, หนังสือพิมพ์ The Courier-Mail ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2005 หน้า 8
3. ‘Bob Geldof Nominated for Nobel Peace Prize’, หนังสือพิมพ์ The Epoch Times ฉบับวันที่ 13 – 19 กรกฎาคม 2005 หน้า 8, http://www.theepochtimes.com.au/
4. Sachs, J. (2005), The End of Poverty: How we can make it happen in our life time, London: Penguin Books.
5. Cassidy, J. (2005), ‘Always with us?’, The New Yorker, April 8, 2005, pp. 72 – 77.

๒ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โอ้ โบโน ช่างเป็นนักร้องทมี่ใจบุญเหลือเกิน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ