วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เมื่อดอกเบี้ยลด (1): คู่มือฝากเงินธนาคาร

มีข่าวแว่วมาว่า ในการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 11 เมษายนที่จะถึงนี้มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นสะสมอย่างต่อเนื่อง

การประกาศลดดอกเบี้ยนั้น จะมีผลในทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ได้แก่

หนึ่ง จะเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน อาคารพาณิชย์ หรือคอนโดมิเนียม ล้วนต้องอาศัยสินเชื่อจากภาคธนาคารในการหล่อเลี้ยงให้ภาคธุรกิจนี้เติบโต ถ้าดอกเบี้ยลดลงหมายความว่าอุปสงค์หรือความต้องการที่มีต่ออสังหาริมทรัพย์จะมีมากขึ้น เพราะคนมีความรู้สึกว่าต้นทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์จะลดลงคนก็กล้าซื้อมากขึ้น

สอง คนจะถือเงินสดเพิ่มขึ้นหรือย้ายเงินไปลงทุนอย่างอื่นมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงย่อมส่งผลให้การฝากเงินไว้กับธนาคารไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าพอที่จะฝากเงินสดไว้ คนมีแนวโน้มจะถือเงินสดเพื่อให้มีสภาพคล่องสูง นั่นคือสามารถนำเงินสดออกมาใช้จ่ายได้เร็วที่สุด

สาม มูลค่าพันธบัตรหรือตราสารหนี้มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนของพันธบัตรมาจากสองส่วน คือ ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้กับราคาพันธบัตร เมื่อดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยลดลงก็จะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรคือดอกเบี้ยที่เคยประกาศไว้สูงขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลอันเกิดจากการลดดอกเบี้ยอีกหลายอย่าง แต่ในที่นี้จะพูดถึงแค่สามประการเพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับตัวของเรา

แล้วเราจะทำอย่างไรดีในภาวะที่ดอกเบี้ยกำลังจะมีแนวโน้มลดลง

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดดอกเบี้ยมาตรฐานลง นั่นหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็จะปรับตัวตามการประกาศลดดอกเบี้ยโดยการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากตามลงไปก่อน และอาจจะตามด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยเช่นกัน นั่นก็หมายความว่าเรามีเวลาไม่นานนักสำหรับการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ยที่ลดลงด้วยเช่นกัน

เราจึงต้องพิจารณาเงินที่เรามีอยู่ในมือ ทั้งในรูปเงินฝากประเภทต่าง ๆ และเงินลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

ปกติแล้ว เงินในรูปแบบต่าง ๆ จะเคลื่อนย้ายไปยังที่ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ผู้ที่ถือเงินแต่ละคนจะมีการจัดพอร์ตหรือจัดกลุ่มการฝากเงินหรือลงทุนในลักษณะแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการใช้เงิน, ข้อมูลข่าวสารที่มีเกี่ยวกับการจัดการเงิน, การยอมรับความเสี่ยงในระดับที่ต่างกันไป และความจำเป็นต้องใช้เงินในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งหมายถึงการยอมรับสภาพคล่องของเงินนั้นว่าจะให้มีมากหรือน้อยเพียงใด สภาพคล่องหมายถึงความสามารถในการแปลงเงินเก็บหรือเงินลงทุนในนั้นให้กลายเป็นเงินสดว่าเร็วหรือช้าแค่ไหน

เงินฝากที่คนส่วนใหญ่นิยมฝากไว้มากที่สุดคือ เงินฝากออมทรัพย์

ในภาวะที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำเตี้ยติดดิน คือ ประมาณ 0.75 เปอร์เซ็นต์นี้ แม้ทางการจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง เงินฝากประเภทออมทรัพย์ก็อาจจะไม่มีผลกระทบมากมายนัก สำหรับคนที่เอาเงินส่วนใหญ่ใส่ไว้ในเงินฝากออมทรัพย์เพราะต้องการสภาพคล่องที่สูงก็อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย ผลตอบแทนที่เคยได้ในระดับไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ในธนาคารทั่ว ๆ ไปก็คงจะได้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะโดยปรับลดลงด้วยซ้ำ แต่ที่เราอาจจะต้องพิจารณาก็คือ ปัจจุบันมีบางธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดาสูงกว่าธนาคารทั่ว ๆ ไป เพียงแต่เป็นธนาคารขนาดเล็กกว่าหรือเป็นธนาคารที่ไม่ได้มีสาขามากมายและไม่ได้มีตู้เอทีเอ็มให้เบิกถอนมากมายเช่นกัน ทำให้ถูกมองว่าสภาพคล่องของเงินที่ฝากในธนาคารเหล่านี้อาจจะไม่สูงนัก

เราอาจจะพิจารณาว่า ควรจะแบ่งเงินฝากในส่วนออมทรัพย์นี้เป็นสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งก็ใส่ไว้ในธนาคารที่ปกติเราฝากอยู่แล้ว เพราะเราต้องการความคล่องตัวในการเบิกถอนมาใช้สูง อีกส่วนหนึ่งอาจจะใส่ไว้ในธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่าธนาคารทั่วไป ซึ่งเงินส่วนนี้อาจจะเบิกถอนไม่สะดวกนัก แต่เป็นเงินในส่วนที่ไม่ได้ต้องการความคล่องตัวสูงมากนัก เราก็อาจจะมาฝากเพื่อหากำไรที่สูงกว่าได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเงินฝากออมทรัพย์ในส่วนนี้ไม่ได้มีจำนวนมากมายก็อาจจะไม่คุ้มต่อต้นทุนในการโยกย้ายเงินไปฝากในสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็คือ ในแต่ละปีอัตราเงินเฟ้อนั้นโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ของธนาคารทั่วไป ซึ่งเมื่อถึงปลายปีก็จะทำให้มูลค่าเงินในธนาคารของเราลดลงไปแบบไม่รู้ตัวได้ เพียงแค่อัตราเงินเฟ้อเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ามูลค่าเงิน 100 บาทจะลดลงเหลือ 98 บาทเมื่อถึงปลายปี ในขณะที่ถ้าเราฝากออมทรัพย์ไว้ในธนาคารทั่ว ๆ ไปเงินของเราจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อ 100 บาท นั่นหมายความว่า สุดท้ายแล้วเงินของเราจะมีมูลค่าลดลง ฉะนั้น อย่างน้อยถ้าเราฝากเงินไว้ในธนาคารที่ให้ผลตอบแทนเทียบเท่าหรือมากกว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะทำให้มูลค่าเงินในกระเป๋าของเราเท่าเดิมหรือไม่ลดลงจนเกินไป

และที่ต้องไม่ลืมคือ ดอกเบี้ยที่ได้นั้นจะต้องหักภาษีอีก 15 เปอร์เซ็นต์ด้วย

สำหรับเงินฝากประจำนั้น เมื่อทางการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย นั่นหมายความว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะต้องลดลงตามไปด้วยอย่างแน่นอน และมีแนวโน้มว่าในระยะยาวอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก นั่นจึงหมายความว่า ถ้าเรามีเงินที่ไม่ต้องการสภาพคล่องสูงมากมาย เราอาจจะแบ่งเงินส่วนนั้นมาใส่ไว้ในเงินฝากประจำ โดยอาจจะแบ่งเงินเพื่อฝากประจำในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี การจะนำเงินไปฝากไว้ในเงินฝากประเภทใดก็ขึ้นกับความจำเป็นที่ต้องใช้เงินในอนาคตหรือสภาพคล่องที่ต้องการ นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยในอนาคตมีแนวโน้มจะลดลง การฝากเงินระยะยาวคือ 1 ปีขึ้นไปก็จะทำให้เราได้ผลตอบแทนมากกว่าเช่นกัน

สำหรับเงินฝากประจำก็เช่นเดียวกับเงินฝากออมทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษี 15 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ สำหรับบางคนที่ต้องการสร้างวินัยในการฝากเงินก็อาจจะฝากประจำรายเดือน ซึ่งโดยมากจะกำหนดให้ฝาก 2 ปี หรือ 3 ปีขึ้นไป การฝากประจำรายเดือนมีข้อดีคือ ไม่ต้องเสียภาษี 15 เปอร์เซ็นต์สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนฝากเงินออมระยะยาว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็กำหนดให้แต่ละคนฝากเงินประเภทนี้ได้เพียงแค่บัญชีเดียวเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าเราฝากกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งแล้วเราก็จะไปเปิดบัญชีประเภทนี้กับธนาคารอื่นไม่ได้อีก ที่สำคัญ ดอกเบี้ยที่ได้จะเป็นดอกเบี้ยระดับเดียวกับการฝากประจำ 12 เดือนบวกกับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมตามแต่แต่ละธนาคารจะกำหนดไว้ การฝากเงินประเภทนี้จึงต้องประเมินว่าเราจะสามารถฝากเงินระยะยาว ๆ ได้เดือนละเท่าไรเพราะถ้าเราฝากแล้วเราจะไม่สามารถถอนได้ก่อนระยะเวลากำหนด ถ้าถอนก่อนเงินที่ฝากมาทั้งหมดก็จะได้ดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยออมทรัพย์และยังต้องเสียภาษีอีกด้วย

เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับค่อนข้างสูงเพราะเป็นอัตราดอกเบี้ยของการฝากประจำ 12 เดือน ซึ่งปกติจะค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ยังมีอัตราดอกเบี้ยที่ให้เพิ่มเติมและดอกเบี้ยที่ได้นั้นไม่ต้องเสียภาษี ทำให้เงินฝากประเภทนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพียงแต่เงินที่ฝากไปนั้นจะมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างต่ำเพราะต้องฝากระยะยาวและฝากทุกเดือนเดือนละเท่า ๆ กัน

การฝากเงินเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่ต้องการความเสี่ยงใด ๆ เพราะรัฐบาลคอยค้ำประกันเต็มจำนวนเงิน (แม้จะมีการพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดขอบเขตในการค้ำประกันเงินฝากให้เหมาะสมอยู่ก็ตาม) แต่การเลือกธนาคารที่ค่อนข้างมั่นคงก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับธนาคารที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมการใช้เงินของเราได้

ไม่มีความคิดเห็น: