วันจันทร์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การเดินทางของผีเสื้อ

ช่วงที่ทักษิณยังเรืองอำนาจนั้น ผมได้อ่านบทความเรื่อง “วันแห่งประวัติศาสตร์การปกครองไทย” ที่คุณปรีชา เฉลิมวณิชย์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยเขียนสะท้อนเหตุการณ์ที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้มีความเห็นชอบนายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่แทนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ถ้ายังไม่ได้อ่าน ลองหาโอกาสอ่านกันนะครับ

บทความนี้ขอมีเอี่ยวกับเหตุการณ์ที่ คุณ ปรีชา อ้างถึงนิดหน่อยครับ โดยขอบอกเล่าเกี่ยวกับ Butterfly Effect ที่คุณปรีชาอ้างถึงไว้ในบทความดังกล่าว เพราะ เห็นว่าค่อนข้างน่าสนใจมากครับ

คุณปรีชาพูดถึง Butterfly Effect ว่า เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นในทางการเมือง การปกครอง หรือการกระทำที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หลักความยุติธรรม สิทธิมนุษย์ชนและองค์กร และสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มักจะเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ อื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาทุกครั้ง

Butterfly Effect สะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดเหตุการณ์อื่น ๆ ต่อไปเป็นลูกโซ่

เรื่องของ Butterfly Effect นี้ ต้องย้อนหลังไปถึงช่วงประมาณต้นทศวรรษ 1960 ขณะที่ Edward Lorenze ทำการทดลองเกี่ยวกับโมเดลการพยากรณ์อากาศ โดยศึกษารูปแบบของภูมิอากาศในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยการใส่ข้อมูลตัวเลขลงไปในคอมพิวเตอร์เพื่อให้คำนวณและแสดงรูปแบบของสภาพอากาศ เดิมที Edward Lorenze คิดว่า ข้อมูลที่ใส่ลงไปนั้น ถ้าใส่ตัวเลขหลังจุดทศนิยมสามตำแหน่งหรือสี่ตำแหน่งล้วนไม่มีนัยยะสำคัญ วันหนึ่งเขาต้องการจะให้คอมพิวเตอร์คำนวณซ้ำ ๆ กันต่อเนื่องยาวนานขึ้น เพื่อความสะดวก เขาจึงใส่เลขหลังจุดทศนิยมเพียงสามตำแหน่งเท่านั้น โมเดลสภาพอากาศกลับให้ผลแตกต่างชนิดตรงกันข้ามกับโมเดลก่อนหน้านี้

เมื่อตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้ว เขาสรุปว่า ข้อสมมติฐานของเขาแต่เดิมที่ว่า ตัวเลขหลังจุดทศนิยมตำแหน่งที่สี่ไม่มีนัยยะสำคัญนั้นผิด ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า องค์ประกอบเล็ก ๆ ของเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ กันต่อเนื่อง อาจได้ผลตรงกันข้ามได้ และนำไปสู่ข้อสรุปที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ในสถานการณ์จริง ย่อมมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบใด ๆ ไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติได้ และปัจจัยเล็ก ๆ เหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

เขาเปรียบองค์ประกอบเล็ก ๆ เหล่านี้ว่า เสมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง ในมุมเล็ก ๆ มุมหนึ่งในโลก อาจจะก่อให้เกิดพายุทอร์นาโดสร้างความเสียหายให้กับอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกได้

Butterfly Effect จึงทำให้การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเกินหกหรือเจ็ดวันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์จะลงทุนเพื่อสร้างอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เพื่อคำนวณโดยคำนึงถึงปัจจัยแทบทุกอย่างที่เป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ จึงไม่แปลกที่เรามักจะบ่นว่า กรมอุตุนิยมวิทยา อยู่เรื่อย ๆ ว่าไม่เคยพยากรณ์อากาศถูกสักที

Butterfly Effect นี้ เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีที่เรียกว่า Chaos หรือ ทฤษฎีไร้ระเบียบ หรือ ทฤษฎีโกลาหล

ถ้าเรายังพอผ่าน ๆ ตาบ้าง สิบปีที่แล้ว อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ได้เขียนหนังสือชื่อ “ทฤษฎีไร้ระเบียบ: ทางแพร่งของสังคมสยาม” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สังคมไทยโดยใช้ทฤษฎีไร้ระเบียบ ซึ่งก็คือ Chaos Theory นี่เอง

ในขณะที่อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ อธิบายคุณสมบัติของระบบที่ไร้ระเบียบ หรือ ระบบโกลาหล นี้ว่า จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

หนึ่ง มีคุณสมบัติไม่เป็นเชิงเส้น หรือ Non-linear ในระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้นนี้ ผลลัพธ์ของระบบทั้งหมดจะไม่เท่ากับผลรวมของผลลัพธ์ในส่วนย่อย ๆ รวมกัน

สอง ไม่ได้เกิดแบบสุ่ม เหตุการณ์ในระบบไร้ระเบียบนี้จะเกิดภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอน นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนเกิดอย่างสะเปะสะปะ (random) แต่จริง ๆ แล้วมีความเป็นระเบียบ (order) ในตัวเอง

อย่างไรก็ดี อาจารย์สมเกียรติ เสนอว่า การแปล Chaos Theory ว่าเป็น “ทฤษฎีไร้ระเบียบ” ดูจะไม่ค่อยเหมาะสมนักเพราะ จริง ๆ แล้วระบบภายใต้ Chaos Theory มีระเบียบในตัวเอง

สาม ไวต่อสภาวะเริ่มต้น นั่นคือ การเริ่มต้นที่แตกต่างกันเพียงนิดเดียวอาจจะทำให้ผลสุดท้ายแตกต่างกันมาก กรณีนี้จะเห็นได้จาก Butterfly Effect ที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

และ สุดท้าย ไม่สามารถทำนายผลล่วงหน้านาน ๆ ได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากความไวต่อสภาวะเริ่มต้น ทำให้เราไม่รู้ว่า ระบบที่เรากำลังสนใจอยู่จะให้ผลอย่างไรในระยะยาว เหมือนอย่างที่เราไม่สามารถทำนายสภาพอากาศล่วงหน้าหลาย ๆ วันได้นั่นเอง

Chaos Theory สามารถนำไปอธิบายเหตุการณ์ในหลากหลายสาขาวิชา ไม่เฉพาะแต่สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ก็มีการนำไปอธิบายมานานแล้ว

ตัวอย่างงานทางด้านรัฐศาสตร์ก็คือ งานของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ที่กล่าวมาข้างต้น และก่อนหน้านี้อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ก็พูดถึงเหตุการณ์การทุจริตคอรัปชั่นในกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ว่า ปัจจุบันเกิดภาวะ Chaos ทางอำนาจ หรือความโกลาหลทางอำนาจ มีความสับสนอลหม่าน มีตัวแปรมากมาย ไม่สามารถทำนายอนาคตได้ อยู่ห่างจากภาวะสมดุลอย่างยิ่ง

สำหรับทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้น ผมได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น แต่ที่ค่อนข้างอ่านง่าย และ อยากจะแนะนำ คือ หนังสือเรื่อง Butterfly Economics ของ Paul Ormerod ซึ่งเขียนอธิบายระบบเศรษฐกิจโดยอาศัย Chaos Theory และทฤษฎีซับซ้อน (Complexity Theory) โดยบอกว่า เศรษฐกิจและสังคมมิใช่เครื่องจักร แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ ดังนั้น พฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจจึงไม่สามารถทำความเข้าใจได้เหมือนเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่งซึ่งสามารถแยกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ แล้วทำความเข้าใจการทำงานของระบบย่อย ๆ และเมื่อเอามาประกอบกันเข้าเป็นระบบใหญ่ ก็สามารถเรียนรู้ได้

แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งมิใช่ร่างกายที่มีส่วนประกอบย่อย ๆ ของเซลล์แต่ละเซลล์เท่านั้น แต่เซลล์มีการเติบโต เรียนรู้ และ ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยในระบบ, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างหน่วยย่อย) และผลกระทบ ล้วนมีอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอาจจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเกิดบ่อยครั้งขึ้น ผลกระทบย่อมใหญ่ขึ้นขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่แม้จะส่งผลกระทบใหญ่โตก็จริง แต่บางครั้งกลับให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้นในระยะยาว จะมีการเกิดซ้ำของพฤติกรรมต่าง ๆ บ่อยขึ้น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยในระบบที่ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าย่อมนำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์ (self-regulation) ของตัวเองขึ้นในระบบ ซึ่งเราจะไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะเกิดอะไรเวลาไหน แต่เราสามารถบอกถึงขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงได้

หนังสือเล่มนี้ Paul Ormerod ตั้งใจจะวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความซับซ้อนในตัวเอง

ตัวอย่างของ Butterfly Economics ซึ่งเป็นผลจาก Chaos Theory นี้ สามารถดูได้จากวิกฤตการณ์การเงินของประเทศไทยในปี 2540

ก่อนหน้าปี 2540 ถ้าเรายังจำภาพลาง ๆ ได้ เราจะเห็นภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นทั่วประเทศเอเซีย ซึ่งมาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว, มนุษย์ทองคำแทบจะเดินชนกันบนถนนธุรกิจใจกลางเมือง, ทุกวันเราเห็นแต่ข่าวเสือเศรษฐกิจ และไทยจะเป็นเสือตัวที่ห้า

ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมยังหลงเข้าไปในกระแสวังวนแห่งความหวังนี้ด้วย ผมนั่งฟังรายการพูดคุยเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางวิทยุอยู่เป็นประจำ, นั่งฟังอาจารย์สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และผู้เชี่ยวชาญมากมายวิเคราะห์เศรษฐกิจเกือบทุกวัน, หาหนังสือที่จะสร้างวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจมาพลิกอ่านอยู่อย่างต่อเนื่อง และฝันว่าเมื่อเรียนจบไปจะได้เป็นมนุษย์ทองคำเหมือนรุ่นพี่ ๆ

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประเทศไทยประกาศลอยค่าเงินบาท ความหวังทุกอย่างพังทลาย ประเทศเปลี่ยนจากเสือตัวห้าเป็นแมวเชื่อง ๆ ตัวที่หนึ่ง

ผลจากการประกาศลอยค่าเงินบาทของประเทศไทย กลับส่งผลต่อเนื่องทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้, เอเซียตะวันออก, รัสเซีย และประเทศละตินอเมริกาในที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีคนพยายามศึกษาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้มากมาย และพยายามหาสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด สาเหตุหนึ่งที่พอจะมองเห็น คือ ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมีการเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเสมือนเป็นหน่วยย่อย ๆ ของระบบใหญ่ คือ โลก ทุกหน่วยย่อยต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็ก ๆ ที่หน่วยย่อยหน่วยเดียวก็สามารถทำให้หน่วยใหญ่โคลงเคลงได้ เปรียบเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อที่มุมเล็ก ๆ ของประเทศไทยกลับส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศลาตินอเมริกาที่อยู่คนละซีกโลกได้ด้วย

สำหรับระบบซับซ้อน หรือ Complexity Theory ที่ Paul Ormerod นำมาใช้อธิบายระบบเศรษฐกิจด้วยนั้น เป็นการศึกษาระบบที่ลึกซึ้งขึ้น ต่อเนื่องขึ้นจากการค้นพบ Chaos Theory และมีการตั้งชื่อระบบเหล่านั้นว่า ระบบซับซ้อน หรือ Complex system

ทอฟเลอร์ เจ้าของหนังสือชื่อดัง คลื่นลูกที่สาม เคยเขียนไว้ในบทนำของหนึ่งในหนังสือที่ถือว่าช่วยกระตุ้นให้เกิดการศึกษาทฤษฎีซับซ้อนอย่างเป็นจริงเป็นจัง คือ หนังสือ Order Out of Chaos: Man’s New Dialogue with Nature ซึ่งเขียนโดย Prigogine และ Stengers ว่า แนวคิดในการศึกษาธรรมชาติแบบจำแนกแจกแจง หรือ Reductionism ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของแนวคิดตะวันตกสมัยใหม่ เป็นการทำความเข้าใจเรื่องใด ๆ หรือ ระบบใด ๆ โดยการตัดเป็นชิ้นส่วนให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ อย่างไรก็ตาม ทอฟเลอร์บอกว่า พวกเราตัดระบบเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่เราลืมที่จะประกอบมันเข้าไปใหม่ เราเข้าใจแต่ว่า เมื่อมันแยกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้แล้ว และเมื่อนำชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้มาประกอบกันย่อมกลายเป็นชิ้นเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่เรามองข้ามความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างชิ้นส่วนเล็ก ๆ เหล่านั้นและมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างระบบกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมันไป

แนวคิดแบบจำแนกแจกแจงนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของวิทยาศาสตร์ยุคดั้งเดิมซึ่งมีมุมมองแบบ Mechanistic หรือ Newtonianism ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยมองทุกอย่างเป็นเสมือนเครื่องจักรกล มองทุกอย่างเป็นระบบปิด แยกสิ่งที่ศึกษาออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวมัน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีความแน่นอน, ง่าย และ มีรูปแบบชัดเจน ซึ่งแนวคิดแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถอธิบายความเป็นไปหลาย ๆ อย่างในธรรมชาติได้

อย่างไรก็ดี ทอฟเลอร์บอกว่า ระบบที่แท้จริงเป็นระบบเปิดที่ผสานอยู่ในสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างซับซ้อนเป็นเครือข่าย มิได้อยู่แบบโดดเดี่ยว

Prigogine ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลซึ่งได้ทุ่มเทศึกษาในเรื่อง Dissipative structures ซึ่งเป็นสภาวะที่ห่างไกลจากภาวะสมดุลซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพจากภาวะที่ไม่มีระเบียบกลายเป็นภาวะที่มีระเบียบ สภาวะเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบกับสิ่งแวดล้อมรอบระบบนั้น การศึกษาของ Prigogine เป็นที่มาของหนังสือ Order Out of Chaos: Man’s New Dialogue with Nature

ทฤษฎีซับซ้อนจึงเป็นการปฏิเสธแนวคิดแบบจำแนกแจกแจง และให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ของหน่วยย่อยภายในระบบที่ถูกมองว่ามีความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทฤษฎีซับซ้อนปัจจุบันถูกนำไปอธิบายในหลาย ๆ ศาสตร์เช่นเดียวกับ Chaos Theory ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, จิตวิทยา, สังคมวิทยา และ เศรษฐศาสตร์

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการอธิบายระบบเศรษฐกิจในมิติแบบซับซ้อนมานานแล้ว โดย Thorstein Veblen อธิบายระบบเศรษฐกิจว่าเป็นระบบซับซ้อนโดยเสนอว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจมี “ความรู้ (Knowledge)” เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีการสะสมความรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทำให้ในระบบมีการปรับตัวและจัดระเบียบองค์กรตัวเองอยู่ตลอดเวลา

Joseph Schumpeter แสดงให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง จากภายในอยู่ตลอดเวลา การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมีนวัตกรรมเป็นศูนย์กลาง มีการทำลายของเก่าและสร้างสิ่งใหม่ Schumpeter เรียกการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากภายในของระบบเศรษฐกิจว่า creative destruction

Friedrich Hayek นำเสนอทฤษฎี spontaneous order ว่า กฎ หรือ rule จะกำหนดกรอบเพียงกว้าง ๆ แต่ในรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายในและปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยย่อยในระบบ การเรียนรู้จากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีอยู่จะช่วยในการปรับตัวภายในระบบนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของระบบซับซ้อนซึ่งมีการจัดระเบียบภายในองค์กรตัวเอง (self-organizing) ที่ว่ามีการผุดปรากฏ (emergence) เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของหน่วยย่อยภายในองค์กรภายใต้กฎของระบบ การผุดปรากฏของ Hayek เรียกว่า Spontaneous Order หรือเกิดระเบียบขึ้นในระบบนั่นเอง

“มือที่มองไม่เห็น” ของ อดัม สมิท (Adam Smith) ซึ่งอธิบายว่า ในระบบตลาดเสรี การเปลี่ยนแปลงของตลาดเกิดจากการกระทำร่วมกันของหน่วยย่อยในตลาด โดยมิได้มีการออกแบบไว้ล่วงหน้า มือที่มองไม่เห็นนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการจัดระเบียบภายในองค์กรตัวเองของระบบซับซ้อนก็ว่าได้

Chaos Theory และ Complexity Theory ยังไม่ได้นำมาใช้ในการอธิบายโมเดลการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจหรือระบบอื่นใดในประเทศไทยมากนัก เราจึงอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง ในขณะที่ในวงวิชาการโลก การศึกษาระบบต่าง ๆ ในมุมมองแบบซับซ้อนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีงานวิจัยปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

บางที การนำมุมมองแบบซับซ้อนมาใช้ในการศึกษาประเทศไทยอาจจะทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างที่เรามองข้ามไปหรือบังตาเราอยู่ตลอดเวลา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่น, ราคาน้ำมันแพง, และ ฯลฯ อาจจะทำได้ตรงจุดมากขึ้น

และเมื่อนั้น ผีเสื้อจะไม่ต้องเดินทางจากประเทศไทยไปสร้างความเดือดร้อนให้อีกมุมโลกหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เราจะไล่จับผีเสื้อที่บินมาจากที่อื่นก่อนที่จะกลายเป็นพายุลูกใหญ่สร้างความเสียหายให้กับเรา



อ่านเพิ่มเติม:
1. ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ (2537) ทฤษฎีไร้ระเบียบ: ทางแพร่งของสังคมสยาม. กรุงเทพมหานคร: คบไฟ
2. ปรีชา เฉลิมวณิชย์ (2548), วันแห่งประวัติศาสตร์การปกครองไทย, ผู้จัดการ Online, วันที่ 22 พฤษภาคม 2548, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000067929
3. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2546), ธรรมชาติของสรรพสิ่ง: มุมมองจากระบบซับซ้อน, โครงการ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง”, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), http://www.info.tdri.or.th/reports/unpublished/complexity.pdf
4. “ธีรยุทธ ตอก! แม้ว ต้นทุนซื่อสัตย์ต่ำ อยู่ไม่ครบ 2 สมัย,” ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ 31 พฤษภาคม 2548
5. Cohen, J. and Stewart, I. (1994). The Collapse of Chaos: Discovering Simplicity in a Complex World. London: Viking.
6. Gleick, J. (1998), Chaos: Making A New Science, London: Vintage.
7. Holland, J. H. (1995), Hidden Order: How Adaptation Builds Complexity. New York: Helix Books.
8. Kauffman, S. (1993), The Origins of Order: Self-Organization and Selection in Evolution. New York: Oxford University Press.
9. Kauffman, S. (1996), At Home in the Universe, London: Penguin Books.
10. Lorenz, E. N. (1963), “Deterministic Nonperiodic Flow”, Journal of the Atmospheric Sciences, Vol. 20, pp. 130 – 141.
11. Lorenz, E. N. (1972), Predictability: Does the Flap of a Butterfly’s Wings in Brazil Set off a Tornado in Texas?, presented in a session devoted to the Global Atmospheric Research Program, at the 139th meeting of the American Association for the Advancement of Science, in Washington, D.C., on December 29, 1972, presented in its original form as an appendix in Lorenz, E. N. (1993), The Essence of Chaos, Seattle: University of Washington Press.
12. Lorenz, E. N. (1993), The Essence of Chaos, Seattle: University of Washington Press.
13. Ormerod, P. (1998), Butterfly Economics, London: Faber and Faber.
14. Prigogine, I. And Stengers, I. (1984), Order Out of Chaos: Man’s New Dialogue with Nature, Colorado: New Science Library.
15. Waldrop, M. M. (1992), Complexity: The Emerging Science at the Edge of Order and Chaos, New York: A Touchstone Book.
16. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2546), ทฤษฎีความโกลาหล, http://www.info.tdri.or.th/reports/unpublished/chaos-theory.pdf

ไม่มีความคิดเห็น: