วันอังคารที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

Irresistible 3: จากนีโอ-เปรูถึงวิคตอเรียน

ผมไปดูแฟชั่นโชว์มาครับ

เมื่ออังคารที่แล้ว ผมเพิ่งมีโอกาสไปร่วมงาน Irresistible 3 ที่เซ็นทรัลชิดลมมาครับ เป็นงานแสดงแฟชั่นของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตโดยเป็นผลงานการออกแบบเสื้อผ้าของพวกเขา ผมดูแล้วก็ได้แต่ทึ่งปนงง เพราะแฟชั่นสำหรับผมแล้ว มันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ แต่น่าค้นหา (ดูภาพจากงาน Irresistible 3 ที่ได้ Part 1 และ Part 2 ครับ)

ผมไม่รู้เรื่องแฟชั่นเท่าไรนักหรอก ผมไม่รู้ว่าอะไรที่เหล่าดีไซน์เนอร์เค้าเรียกว่าสวยหรือน่าทึ่ง แต่ผมรู้ว่าดีไซน์เนอร์จะต้องอาศัยแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน ซึ่งผมก็พอจะเข้าใจเรื่องแรงบันดาลใจอยู่บ้าง มันก็คงไม่ต่างอะไรกับแรงบันดาลในการเขียนหนังสือที่บางครั้งมันเขียนไม่ออกเอาเสียเลย ถ้าไม่มีแรงผลักดันอะไรมาช่วย แต่บางครั้งมันก็พรั่งพรูจนเขียนเอาไม่ทันเลยทีเดียว

เหมือนที่ “กุ๋น” หนึ่งในดีไซน์เนอร์และโต้โผจัดงาน Irresistible 3 แอบเล่าให้ผมฟังว่า เขา (หรือเธอ!!!) มองเห็นชุดของสาวชาวเปรูบนหน้านิตยสารท่องเที่ยวเล่มหนึ่ง และกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ นีโอ – เปรู ในที่สุด

เกือบสองปีก่อนผมไปเดินงานแฟชั่นวีค 2005 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์มา ในวันนั้นรัฐบาลทักษิณต้องการยกระดับวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยให้เป็นมากกว่าโรงงานทอผ้าในภาวะที่ต้นทุนค่าแรงงานของไทยเพิ่มสูงจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำอย่างจีนหรือเวียดนามได้ แม้ฝีมือแรงงานของพวกเขาจะยังสู้ฝีมือแรงงานไทยไม่ได้ในตอนนี้ก็ตาม แต่อีกไม่นานความสามารถของแรงงานจีนและเวียดนามจะเพิ่มขึ้น การที่ประเทศไทยจะอาศัยข้อได้เปรียบนี้ในระยะยาวจึงไม่สามารถทำได้

เราจะต้องสร้างมูลค่าของสินค้าให้เกิดขึ้น และสิ่งที่ผสมอยู่ในคำว่าแฟชั่นนี่แหละคือคำตอบครับ

ไม่ว่างบประมาณ 321 ล้านบาทจากภาครัฐบาลในครั้งนั้นที่ต้องการทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองแฟชั่นจะคุ้มทุนหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสื่อมวลชนและชาวบ้านร้านตลาดจะเป็นไปทั้งแง่ดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่ผมคิดว่า นี่เป็นเงินทุนก้อนแรกของการจัดระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมาก จากสินค้าที่ถือว่ามีการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นจากอดีตที่เราเคยเน้นแต่อุตสาหกรรมทอผ้า หรือ รับจ้างผลิตเสื้อผ้า

โดยเฉพาะในปี 2548 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการสิ้นสุดระบบโควตาการส่งออกสิ่งทอที่ประเทศไทยได้รับมากว่า 20 ปี เมื่อนโยบายการค้าเสรีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะต้องเปิดรับการแข่งขันจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็น จีน และ เวียดนาม

เมื่อมองในแง่นี้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวเองไปสู่การสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มแทนการรับจ้างผลิตแต่อย่างเดียว นั่นคือ จำเป็นต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นในแง่การสร้างแบรนด์ใหม่ ๆ หรือในแง่การออกแบบเสื้อผ้าที่มุ่งสร้างตลาดใหม่

จากรายงานของไทยธนาคาร พบข้อเท็จจริง ๆ หลาย ๆ อย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็น

  • ประเทศไทยส่งออกสินค้าแฟชั่นปีละ 300,000 ล้านบาท

  • ประเทศไทยประสบปัญหาในด้านการส่งออก โดยเฉพาะสิ่งทอและรองเท้า ด้วยการแข่งขันในตลาดโลกที่ค่อนข้างรุนแรง กอปรกับการถูกตัดสิทธิ GSP โดยสหภาพยุโรป

  • ส่วนแบ่งตลาดสินค้าแฟชั่นไทยมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ จาก 2.3% ในปี 2539 เหลือ 1.9% ในปี 2543 และ 1.8% ในปี 2545

  • อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมแฟชั่นค่อนข้างน้อย เนื่องจากสัดส่วนการใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ ภาครัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ชัดเจนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคนี้ รวมถึงการเป็นเมืองแฟชั่นโลก ซึ่งผลงานล่าสุด คือ งานแฟชั่นวีค ตลอดสองปีที่ผ่านมานี้เอง

หนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย คือ การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ หรือ คลัสเตอร์ (cluster) ตามแนวคิดของ ไมเคิ่ล อี พอร์ตเตอร์

โดยรัฐบาลมองว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่น มุ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสามประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนัง และ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์การแข่งขันเป็นตัวนำ และจะต้องมีการสนับสนุนให้การผลิตมีการเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร โดยการบริหารจัดการในกลุ่มให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อุปกรณ์ตกแต่ง และส่วนประกอบ โดยมุ่งที่จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

รัฐบาลมองว่า รูปแบบคลัสเตอร์ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลาย ๆ ประเทศใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในอนาคต

ในขณะที่ บีโอไอ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ก็มีการเจาะอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ 5 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับตัวเลขเมื่อปี 2548 จากกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วงเดือน มกราคม ถึง เมษายน 2548 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 77,416.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.5 โดยแบ่งเป็นการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 1,008.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐและสิ่งทอ 1,002.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.2 และ 49.8

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2548 ทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 20 ซึ่งถึงแม้ว่าการส่งออกในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. จะมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 6.5 แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกสิ่งทอไทยจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นมุมมองของภาครัฐ ลองมาดูมุมมองของภาคเอกชนผู้คลุกคลีในอุตสาหกรรมแฟชั่นจริง ๆ ดีกว่า

ในงานแฟชั่นวีคครั้งนั้นผมได้เข้าฟังงานสัมมนาเรื่อง “การสัมมนาเพื่อค้นหาแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งมีประเด็นในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งอยากเล่าให้ฟัง

เค้าบอกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจริง ๆ แล้ว มีมากกว่าที่เราเห็น ๆ กัน เพราะยังมีส่วนประกอบเบื้องหลังของอุตสาหกรรมนี้อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์, ผู้ผลิต, ร้านขายเสื้อผ้า ไปจนถึงแม่ค้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ และประตูน้ำ

พื้นที่ค้าปลีกของสินค้าทุกชนิดในกรุงเทพฯมีทั้งสิ้น 4 ล้านตารางเมตร เฉพาะแค่ในส่วนพื้นที่ธุรกิจศูนย์กลางของกรุงเทพฯ หรือ CBD มีทั้งสิ้น 600,000 ตารางเมตร (ณ วันนั้น)

แต่มีพื้นที่ว่างเพียง 5% เท่านั้น

โดยในปีที่แล้วก็มีพื้นที่ขายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3% เช่น ในห้างสยามพารากอนที่กำลังก่อสร้างอยู่ รวมถึงใน Central World

ในพื้นที่ทั้งหมด 4 ล้านตารางเมตรนั้น เป็นสินค้าแฟชั่นไปถึง 30% (ถ้าไม่เชื่อ ลองไปเดินสยามดูสิครับ จะเจอมากกว่า 30% แน่ ๆ)

ซึ่งพื้นที่สำหรับสินค้าแฟชั่นนี้ มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีตที่เป็นร้านตัดเสื้อ หรือ ห้องเสื้อ ต่อมาย้ายไปอยู่บนห้างสรรพสินค้า, ช้อปปิ้งมอลล์, เมกะสโตร์, ดิสเคาน์สโตร์

สำหรับในอนาคต พื้นที่ขายสินค้าจะพัฒนาไปสู่สามรูปแบบใหม่ คือ Concept Store, Flagship และ Guerrilla หรือ Pop up Store

Concept Store จะเป็นร้านที่นำสินค้ามาขายจำนวนน้อย คือ 2 – 3 ชิ้น โดยทางร้านจะคัดเลือกจากแฟชั่นชุดใหม่ ๆ, คอลเล็กชั่นพิเศษ และจะมาจากหลากหลายยี่ห้อ โดยในร้านจะมีสินค้าที่หลากหลายเช่นกัน ตั้งแต่ ซีดี, แฟชั่น, เครื่องใช้สำนักงาน, อาหาร และ อื่น ๆ

สำหรับ Flagship เป็นร้านเฉพาะที่อาจจะสร้างโดยเจ้าของแบรนด์สักแบรนด์หนึ่ง เช่นร้าน Celux Club บนถนน Ometesando ในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นถนนแฟชั่น ร้านนี้เป็นของหลุยส์ วิตตอง ซึ่งการเข้าร้านนี้ มิใช่เข้าง่าย ๆ ครับ จะต้องเป็นสมาชิกก่อน โดยต้องจ่ายค่าสมาชิก 2,000 เหรียญสหรัฐ และในการเข้าก็จะต้องมีการ์ดสำหรับรูดเข้า โดยภายในนั้นจะมีทั้งเลาจ์ และร้านให้ช้อปปิ้งซื้อสินค้า

สำหรับสมาชิก จะได้รับสิทธิพิเศษ ได้แก่ การซื้อผลิตภัณฑ์ล่าสุดของหลุยส์ วิตตอง หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น การได้ดูภาพยนตร์ดัง ๆ ก่อนคนอื่น หรือมีการแสดงนิทรรศการศิลปะพิเศษต่าง ๆ

สำหรับรูปแบบสุดท้าย คือ Guerrilla ที่เป็นร้านที่จะไปเปิดในที่ว่างสักแห่งหนึ่งในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นิวยอร์ค, ลอนดอน, โตเกียว, เซี่ยงไฮ้, ปารีส, เบอร์ลิน, สต็อกโฮม หรือ แอลเอ เป็นต้น โดยร้านจะเปิดระยะสั้น เช่น หนึ่งเดือน หรือ ไม่เกินหนึ่งปี และสถานที่ที่จะเปิดจะไม่มีการบอกล่วงหน้า แต่อาจจะใบ้ให้แฟน ๆ ที่ติดตามร่วมสนุกโดยการทายว่า ครั้งต่อไปร้านจะไปเปิดที่ไหน และต้องไปหาดูเองว่าเปิดจริงหรือไม่

ซึ่งจะมีแฟนกลุ่มหนึ่งที่คอยติดตามและร่วมค้นหาร้านเหล่านี้

สำหรับสินค้าจะเป็นสินค้าที่ทำมาจำนวนจำกัด มีไม่กี่ชิ้น ( limited Edition) และสินค้าอาจจะมาจากแบรนด์ชั้นนำ หรืออาจจะมาจากดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ หรือแบรนด์สร้างใหม่ก็ได้ แต่สินค้าจะมีความโดดเด่นและบางชิ้นเอาไว้โชว์เท่านั้น ไม่ได้ไว้ขาย สินค้าที่ขายในร้านพวกนี้จึงมีราคาแพง และหายาก

ร้านแบบนี้จึงมิได้อิงกับตำราทางด้านการตลาดใด ๆ บนโลก เพราะ ถือว่า ยิ่งร้านหายาก ยิ่งดี

สำหรับแนวโน้มของร้านขายปลีกสินค้าแฟชั่นมีสามแนวโน้มที่สำคัญ คือ

Cross Over คือ เป็นไปในทางลูกผสม ในร้านจะไม่ได้มีแค่สินค้าแฟชั่นพวกเสื้อผ้า, รองเท้าเท่านั้น แต่จะมีสินค้าด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, โรงแรม นั่นคือ กำแพงระหว่างอุตสาหกรรมจะลดลง ผู้นำในวงการแฟชั่นจะเริ่มก้าวออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อมาร์นี่ และ เวอร์ซาเช ที่เข้าสู่ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

Less is More สินค้าแนวแฟชั่นไม่จำเป็นต้องผลิตมาจำนวนมากตามแบบแนวคิดของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผลิตไม่กี่ชิ้นก็สามารถขายได้ ถ้ารูปแบบสะดุดตาผู้ซื้อ ในกรณีนี้ Economy of Scale จึงไม่สามารถใช้อธิบายได้

Small is Beautiful ร้านเล็ก ๆ หรือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กจะสามารถสู้กับรายใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมได้มากขึ้น

เคยมาเดินสีลมตอนกลางคืนไหมครับ โดยเฉพาะตรงแถว ๆ หน้าตึกซิลลิคเฮาส์ เลยซอยศาลาแดงไปทางสถานีรถไฟใต้ดินน่ะครับ ดึก ๆ จะมีหนุ่มสาวหลายคนมานั่งปูผ้าแบกะดินขายของ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของประดับ และอีกหลาย ๆ อย่าง ผมเห็นแววตาพวกเขาแล้วมันมีไฟฝันอยู่ข้างใน

เหมือนน้อง ๆ ดีไซน์เนอร์ในงาน Irresistible 3 นี่แหละ พวกเขากำลังจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ อีกหลาย ๆ คน

รวมถึงตัวผมด้วย

อ่านเพิ่มเติม:
1. “บางกอกแฟชั่นวีก… “WEAK” จริงๆ !?!”, ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 สิงหาคม 2548
2. สำนักวิจัยและวางแผน ไทยธนาคาร, รายงานภาวะตลาดและเศรษฐกิจรายสัปดาห์: อุตสาหกรรมแฟชั่น ในสถานการณ์สงครามและยุทธศาสตร์การแข่งขัน, 18 กุมภาพันธ์ 2546
3. อัจฉรา วรศิริสุนทร, คลัสเตอร์อุตสาหกรรม: ความสำเร็จที่รอเวลาพิสูจน์, Special Report, ธนาคารกรุงเทพ, 7 กรกฎาคม 2547
4. สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2, ชัยชนะอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมบนเส้นทางคลัสเตอร์ (Cluster)
5. “การสัมมนาเพื่อค้นหาแนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น”, Bangkok Fashion Week 2005
6. ยอดส่งออกสิ่งทอไทยขยายตัว, หนังสือพิมพ์ โลกธุรกิจ, วันที่ 7 กรกฎาคม 2548

หมายเหตุ: บทความนี้บางส่วนถูกเขียนขึ้นเมื่อเกือบสองปีก่อนภายหลังจากเข้าร่วมงานแฟชั่นวีคปี 2005 ทำให้ข้อมูลที่อ้างอิงอาจจะเก่าไปบ้าง และอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเท่าไร และขอขอบคุณรูปภาพจาก ThaiCatwalk.com

๗ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เชื่อว่าจะเขียนเรื่องแฟชั่นได้จริงๆ เยี่ยมๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แหง่วว คือจะบอกว่า ไม่น่าเชื่อ ว่าจะเขียนเรื่องแฟชั่นได้จริงๆอ่ะ ทำไมประโยคมันไม่ครบอ่ะ..เครียด..

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านแล้วซาบซึ้งมากๆ ขอบคุณพี่ชัยที่สร้างสรรค์เป็นบทความดีๆอีกหนึ่งบทความ ที่ได้แรงบัลดาลใจจากกุ๋นนะ
ขอเสริมเรื่อง Flagship Store นะจ๊ะ บางทีร้านFlagship ก็เป็นร้านขายเสื้อแบรนด์ทั่วๆไปนี่ล่ะเพียงแต่ว่า Flagship Store จะมีสินค้าครบทุก line ที่แบรนด์นั่นๆผลิตมีสินค้าครบทุกชนิด เช่นFlagship Store ของ Prada ก็จะมีทั้ง เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางค์ น้ำหอม ของPradaครบนั่นเอง อันนี้จากที่เรียนมาอ่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่ว่าเราจะเกินคนแล้วนะ รอบรู้ไปหมด
แหม..น่าจะแก่กว่านี้สักห้าปี ฮิฮิ

Odysseus กล่าวว่า...

ยังคงสภาวะแน่น(ด้วยข้อมูล)อย่างเหนียวแน่น
และแน่น(อน)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆคับ บทความของพี่ทำให้ผมสนใจนโยบาลบางกอกเมืองแฟชั่น จึงได้หยิบเอามาเป็นหัวข้อทำวิจัย จึงอยากทราบข้อมูลเพิ่เติม ที่มา ที่ไป เงินลงทุน ผลกระทบ จากโครงการนี้ หากพี่ๆที่รู้จะกรุณา รบกวนส่งข้อมูลให้ด้วยนะครับ ที่firstforfun_123go@hotmail.com จะถือเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ