วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

Freakonomics: จาก สตีเว่น เลวิทท์ ถึง เจสัน พ็อตส์

เกือบสองปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์ และ อเมซอนดอทคอม เมื่อหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มหนึ่งขึ้นติดอันดับหนังสือขายดีสิบอันดับแรกอยู่หลายสัปดาห์ โดยช่วงหนึ่งสามารถไต่อันดับขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งได้ในรายชื่อของนิวยอร์กไทม์

หนังสือเล่มนี้สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจ และสร้างความฉงนฉงายให้กับทั้งผู้คนในวงการเศรษฐศาสตร์เอง นักอ่าน และนักวิจารณ์หนังสือ หนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุ คือ การสามารถตอบคำถามที่น่าสนใจหลาย ๆ คำถามได้ และเช่นเดียวกับที่ในหนังสือมีการตั้งคำถามที่ดูค่อนข้างแปลก แต่มีเหตุมีผลในการตอบคำถามนั้น ๆ บางคำถามดูเหมือนไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันนัก แต่ผู้เขียนก็สามารถดึงความแตกต่างนั้นมาอธิบายด้วยชุดคำตอบที่ใกล้เคียงกัน

….

ผมกำลังพูดถึงหนังสือ Freakonomics: A Rogue Economist Explores the Hidden Side of Everything ซึ่งเขียนร่วมกันโดยนักเศรษฐศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์ครับ

สตีเว่น เลวิทท์ (Steven D. Levitt) ปัจจุบันสอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (the University of Chicago) และได้รับรางวัลจอห์น เบทส์ คลาร์ก (John Bates Clark Medal) ซึ่งทุก ๆ สองปีรางวัลนี้จะถูกมอบให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีผลงานโดดเด่น คนหนึ่งที่เคยได้รับรางวัลนี้และคนไทยรู้จักกันดี คือ พอล ครุกแมน (Paul Krugman)

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์อธิบายถึง สตีเว่น เลวิทท์ ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะวัยเยาว์ที่มีมุมมองในเหตุการณ์ และ เรื่องราวความเป็นไปในชีวิตประจำวันที่แตกต่างจากมุมมองของคนทั่วไป โดยเฉพาะมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เรียกว่า “นอกคอก” สตีเฟ่น ดับเนอร์ ซึ่งเขียนร่วมกันในหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า เลวิทท์ มีมุมมองที่ไม่เหมือนเหล่านักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ที่เมื่อเรานึกภาพถึงเหล่านักเศรษฐศาสตร์ ก็จะนึกถึงเรื่องที่พวกเขาสนใจไม่ว่าจะเป็น นโยบายทางการเงินการคลัง หรือ ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น แต่เลวิทท์มีมุมมองที่ชาญฉลาดและอยากรู้อยากเห็น เปรียบเหมือน คนทำหนังสารคดี, นักสืบ หรือ อาจจะเป็นคนรับแทงพนัน ที่สิ่งที่พวกเขาสนใจมีตั้งแต่กีฬา, อาชญากรรม ไปจนถึง วัฒนธรรมป๊อป
งานวิจัยของ เลวิทท์ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและคำถามที่ยังหาคำตอบที่แน่นอนไม่ได้ ในชีวิตประจำวัน

เลวิทท์ มองว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีเครื่องมือในการหาคำตอบที่เยี่ยมยอด แต่ขาดการตั้งคำถามที่น่าสนใจ
  • ดังนั้น พรสวรรค์ของ เลวิทท์ ในมุมมองของ ดับเนอร์ คือ ความสามารถในการถามคำถามที่น่าสนใจเหล่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น
  • ถ้าคนขายยาเสพติด สามารถทำเงินได้อย่างมากมายแล้ว ทำไมพวกเขายังต้องอาศัยอยู่กับแม่ของพวกเขา (คำถามนี้ เราอาจจะพอมองเห็นได้จากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ที่เด็กขายยายังต้องอาศัยกินข้าวที่บ้านแม่อยู่)
  • ระหว่างปืน กับ สระว่ายน้ำ อะไรอันตรายกว่ากัน
  • ทำไมพ่อแม่คนผิวดำจึงชอบตั้งชื่อลูก ๆ ซึ่งอาจจะทำให้อนาคตของลูกของพวกเขาไม่สดใสนัก
  • ครูทุจริตโดยการช่วยนักเรียนของพวกเขาโกงข้อสอบเพื่อให้พวกเขาเองได้รับคะแนนประเมินผลงานการสอนสูงขึ้นหรือเปล่า
  • นักซูโม่ขี้โกงหรือไม่
  • ทำไมคนจรจัดที่ใส่เสื้อผ้าขาด ๆ ถึงมีเงินซื้อหูฟังราคา 50 เหรียญได้

นอกจากนี้ เลวิทท์ ยังไม่กลัวที่จะใช้ข้อสังเกตและความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวในระเบียบวิธิวิจัย และไม่กลัวที่จะใช้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและการเล่าเรื่อง ในการแสดงผลการวิจัย เลวิทท์ ใช้สัญชาตญาณในการมองตลอดทั่วข้อมูลที่มีอยู่ และสามารถค้นพบเรื่องราวที่ไม่มีใครค้นพบมาก่อน เขาสามารถหาหนทางที่จะวัดค่าข้อมูลซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั่ว ๆ ไปมองว่าไม่สามารถวัดค่าได้ เช่น เรื่องการโกง, การคอร์รัปชั่น และ อาชญากรรม

ส่วน สตีเฟ่น ดับเนอร์ (Stephen J. Dubner) ปัจจุบันเขียนบทความให้แก่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์และนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารชั้นนำของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของหนังสือขายดีอย่าง Turbulent Souls และ Confessions of a Hero-Worshiper

Freakonomics ช่วยตอบคำถามที่น่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น กรณีอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในช่วงต้นทศวรรษ 1990 คดีฆ่ากันตายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในหน้าหนังสือพิมพ์ และ ข่าวทีวี เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความสนใจให้เกิดแก่เหล่านักอาชญาวิทยา และ ประธานาธิบดีคลินตัน ซึ่งต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า อัตราการเกิดอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ต้องสงสัย โดยมองในด้านดี อัตราการเกิดอาชญากรรมจะเพิ่มอีก 15% ในช่วงทศวรรษหน้า และในด้านร้าย คือ จะเพิ่มเป็นสองเท่า ส่วนคลินตันมองว่า อัตราการเกิดอาชญากรรมนี้ จะทำให้ประธานาธิบดีคนต่อจากเขาไม่น่าจะมีเวลามานั่งอรรถาธิบายถึงลู่ทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องรักษาตัวเองให้รอดจากเหล่าอาชญากรบนท้องถนนเหมือนชาวอเมริกันทั่ว ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม กาลต่อมา อัตราการเกิดอาชญากรรมในหมู่เยาวชนกลับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ๆ โดยลดลงถึง 50% ภายในระยะเวลาห้าปี และในปี 2000 อัตราการเกิดอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาโดยรวมกลับลดลงต่ำสุดในรอบสามสิบห้าปี ซึ่งทำให้เหล่านักวิชาการต้องมานั่งหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และส่วนใหญ่ก็สรุปตรงกันว่า เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมในช่วงทศวรรษ 1990, กฎหมายควบคุมการใช้ปืนที่เข้มงวดและจริงจังขึ้น หรือเป็นเพราะ การกำหนดยุทธศาสตร์ของเหล่าตำรวจที่ยอดเยี่ยม
ถ้าคำตอบง่าย ๆ อย่างนั้น ชุดคำตอบในการแก้ปัญหาอาชญากรรมในอนาคตก็อยู่ในมือผู้กำหนดนโยบายหมดแล้วสิ


เลวิทท์ ปฏิเสธคำอธิบายเหล่านั้น และบอกว่า จริง ๆ แล้ว การแก้ปัญหาอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาได้รับการเตรียมตัวมายี่สิบปีก่อนหน้านั้น และเกี่ยวพันกับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ในเมืองดัลลัสที่ชื่อ นอร์มา แม็คคอร์วี่ย์
นอร์มา เป็นเด็กสาววัยยี่สิบเอ็ดปีที่ยากจน, ไร้การศึกษา, ไร้ฝีมือ, ติดเหล้า และ ยาเสพติด เคยมีลูกสองคน และไม่สามารถรับภาระเลี้ยงลูกของตัวเองไหว ต้องให้คนอื่นมารับอุปการะเลี้ยงดูแทน และในช่วงปี 1970 เธอก็พบว่า ตัวเองตั้งท้องอีกครั้ง เธอจึงต้องการทำแท้ง แต่เนื่องจากเธออยู่ที่รัฐเท็กซัส ซึ่งในรัฐนั้น การทำแท้งถือว่าผิดกฎหมาย แต่กรณีของนอร์มาถูกจัดการโดยกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจมากกว่าเธอ และนำคดีของเธอขึ้นสู่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ในที่สุด ศาลตัดสินให้การทำแท้งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายทั่วประเทศ


คำตัดสินนี้ ส่งผลให้เด็กที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจำนวนหลายล้านคนไม่ต้องลืมตามาดูโลก ซึ่งกรณีเหล่านี้มักเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ฐานะยากจน, ไม่ได้แต่งงาน, และการลักลอบทำแท้งก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถแบกรับภาระได้ และเด็กที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมได้สูงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ


ผลกระทบกรณีของนอร์มานี้ส่งผลในหลายปีต่อมา เมื่อเด็กที่ถูกทำแท้งไปไม่ได้เข้าสู่วังวนของการก่ออาชญากรรม จึงทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงอย่างรวดเร็ว
เลวิทท์ อธิบายกรณีนี้ว่า เปรียบเสมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ในมุมหนึ่งของโลก แต่กลับก่อให้เกิดพายุเฮอร์ริเคนในอีกด้านหนึ่งของโลก


ในทัศนะของ เลวิทท์ จึงเห็นว่า เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือ กฎหมายการควบคุมการใช้อาวุธปืนไม่ได้มีผลต่ออัตราการก่ออาชญากรรมที่ลดลงแต่อย่างไร
ซึ่งเหตุผลนี้ เราไม่เคยได้ยินจากนักวิชาการคนใดมาก่อนเลย

นอกจากนี้ เลวิทท์ ยังอธิบายหลาย ๆ กรณีด้วย เหตุจูงใจ หรือ incentive โดยบอกว่า พฤติกรรมของคนจะตอบสนองต่อแรงจูงใจที่เกิดขึ้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง แรงจูงใจก็น้อยเกินกว่าที่จะก่อให้เกิดผลที่คาดหวังไว้ หรือไม่ตรงตามที่หนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์ทำนายไว้ ซึ่งที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนไม่สนใจและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา หรือ นักสังคมวิทยา มานั่งหาคำตอบแทน

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วนึกถึง เจสัน พ็อตส์ (Jason Potts) ครับ

เจสัน พ็อตส์ อายุมากกว่าผมสองปี เขาสอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ที่ผมเคยไปเรียนปริญญาโทอยู่

ผมจำได้ว่า เทอมแรกที่ได้มีโอกาสเรียนกับ เจสัน เขาเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างจากที่ผมเคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวที่ดูสบาย ๆ รูปแบบการอธิบายหน้าชั้นเรียนที่เคลื่อนไหวตัวและมืออยู่ตลอดเวลา และทุกครั้งที่เขาพูดถึงหนังสือที่เค้าอ่าน เค้าดูจะปลาบปลื้มใจกับเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นมาก

เจสัน พ็อตส์ เขียนหนังสือ The New Evolutionary Microeconomics: Complexity, Competence and Adaptive Behaviour ซึ่งพยายามอธิบายเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่เราเคยเห็น ๆ กันในหนังสือเศรษฐศาสตร์ทั่ว ๆ ไปในแนวทางของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Evolutionary economist

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกที่มีแนวคิดแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่ว ๆ ไปมีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Australian, Behavioural, Evolutionary, Institutional, Post-Keynesian, Neo-Schumpeterian และ Post-Schumpeterian

สำหรับ เจสัน เขาอยู่ในกลุ่ม Evolutionary ซึ่งศึกษาระบบเศรษฐกิจในฐานะระบบซับซ้อนที่สามารถจัดระเบียบตัวเองได้ นั่นคือ สามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ เป้าหมายของการศึกษาของกลุ่มนี้จึงอยู่ที่โครงสร้างและกลศาสตร์ของการก่อกำเนิดและแพร่กระจายของความมั่งคั่งสมบูรณ์

นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้จะเน้นการศึกษาถึงการวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงานของ อดัม สมิธ สองเล่ม คือ The Moral Sentiments และ The Wealth of Nations ก็ถือว่าเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Evolutionary economics มิได้เป็นอีกร่างทรงหนึ่งของ Biological evolution ซึ่งประยุกต์มาใช้กับแนวคิดเศรษฐศาสตร์ แต่ Evolutionary economics เป็นแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกำเนินดของความมั่งคั่งสมบูรณ์ ซึ่งแนวคิดนี้วางอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยหลาย ๆ แนวคิด เช่น ระบบเปิดของเทอร์โมไดนามิกส์, ระบบซับซ้อน (Complexity) และทฤษฎีการปรับระเบียบภายในตัวเอง (Self-organization theory), ทฤษฎีInformation และ Computation, ทฤษฎีเครือข่าย (network theory) และ Behavioural theory

ซึ่งจริง ๆ แล้วทฤษฎีวิวัฒนาการถูกค้นพบในระบบและขั้นตอนทางสังคมโดย อดัม สมิท ก่อนที่จะถูกค้นพบในระบบและขั้นตอนทางชีววิทยาโดย ชาร์ล ดาร์วิน เสียอีก


นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ยังอาศัยระเบียบวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ซึ่งแตกต่างจากของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เดิม เนื่องจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่ว ๆ ไปไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงและมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจขั้นตอนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน


ดังนั้น แค่เศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค หรือ Micro-macro จึงไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจธรรมชาติของลัทธิทุนนิยมการตลาด (market capitalism) จำเป็นจะต้องมี Meso (ซึ่งผมไม่ทราบคำศัพท์ที่ใช้ในภาคภาษาไทย) ด้วย การจะวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจที่มีวิวัฒนาการจึงต้องการ Micro-Meso-Macro

สำหรับประเด็นนี้ ผมจะหาโอกาสอธิบายรายละเอียดลึก ๆ ในบทความถัด ๆ ไป

ผมไม่แน่ใจว่า สตีเว่น เลวิทท์ หรือ เจสัน พ็อตส์ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์นอกคอก รู้สึกเหงาบ้างไหม
แต่ท่ามกลางแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำกลุ่มผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เราก็ยังคงเห็นแนวคิดที่ฝ่ากระแสเข้ามาแทนที่อยู่เป็นพัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นของ เคนส์ ที่ช่วงสงครามโลกสามารถให้คำตอบกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของเหล่านักการเมืองได้ และทำให้แนวคิดของเคนส์เข้ามาครอบงำเหล่านักวางแผนทางเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลก ซึ่งยังคงส่งผลอย่างต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้

การตั้งคำถาม และ หาคำตอบของ เลวิทท์ พิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่งจากยอดขายหนังสือที่ขึ้นไปติดอันดับค่อนข้างสูงของสิบอันดับหนังสือขายดี ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์กไทม์ หรือ อเมซอน สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของเขาพอจะสามารถพิสูจน์ตัวเองเพื่อกลายมาเป็นกระแสหลักในอนาคตได้

แม้ผลของคำถามและคำตอบที่เขาคิดและค้นหามาจะยังไม่สามารถแสดงออกมาเป็นรูปชุดคำตอบสำหรับนักวางนโยบายก็ตาม แต่การต่อยอดจากหนังสือเล่มนี้ น่าจะทำให้แนวคิดของเขาชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง
เช่นเดียวกับ เจสัน พ็อตส์ ที่แนวคิด Evolutionary economics ยังไม่สามารถแสดงผลของชุดคำตอบออกมา ถึงแม้ว่างานวิจัยมากมายหลายชิ้นทาง Evolutionary Economics จะให้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นถึงธรรมชาติของลัทธิทุนนิยม แต่วันหนึ่ง ทฤษฎี รวมถึง กฎ อีกมากมายภายใต้แนวคิด Evolutionary Economics อาจจะมาครอบงำแนวคิดกระแสหลักก็ได้

ห้อง 208 ชั้นล่างตึกเรียนอเนกประสงค์ยามบ่ายคล้อย แสงแดดสุดท้ายสาดส่องทะลุช่องหน้าต่างเข้ามาในห้องเรียน เจสัน พ็อตส์ ยังคงเดินไปเดินมาอยู่หน้าชั้นเรียน พร้อมกับมือที่เคลื่อนไหวไปมา และหลากหลายถ้อยคำที่พรั่งพรูจากปากของเขา นักเรียนทั้งออสเตรเลียน, เอเซียน, ยุโรป รวมถึงคนไทยอย่างผมนั่งตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ

วันหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ เขาอาจจะแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ Freakonomics

แต่อีกวันหนึ่ง เขาอาจจะพรั่งพรูถึง กฎใหม่ ๆ ที่คิดค้นได้ และ ชุดคำตอบใหม่ ๆ สำหรับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ

ผมจะตั้งใจรอฟังครับ

อ่านเพิ่มเติม:
1. Levitt, S. D. and Dubner, S. J. (2005), Freakonomics: A RogueEconomist Explores the Hidden Side of Everything, New York: PerfectBound.
2. Quiggin, J. (2005), “Rogue economics”, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review, ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2005 เซ็กชั่น Review หน้า 2
3. The Economist (2005), “Vital statistics of a lateral linker”, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2005 หน้า 33
4. http://www.freakonomics.com/
5. Potts, J. (2000), The New Evolutionary Microeconomics: Complexity, Competence and Adaptive Behaviour, Cheltenham: Edward Elgar.
Dopfer, K, Foster J, and Potts J (2004), “Micro meso macro”, Journal of Evolutionary Economics. Vol.14, pp. 263–279
6. http://www.business.aau.dk/evolution
7. http://www.meister.u-net.com/economics/evolutionary_economics.htm
8. http://etss.net/

๒ ความคิดเห็น:

Odysseus กล่าวว่า...

หลังจากอ่านบทความนี้จบ...
เกิดความสับสนพลุ่งพล่านขึ้นในตัวเองครับ
สับสนว่า
"ผมจะอ่านอะไรก่อนดี" :-)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ