วันจันทร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้างหลังภาพ

ผมใช้เวลาสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั่งอ่าน “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา” หลังจากที่เคยดูเรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์เมื่อ 5 หรือ 6 ปีที่แล้ว

“ข้างหลังภาพ” เป็นเรื่องราวความรักต่างวัยของ “นพพร” นักศึกษาวัย 22 ปีซึ่งเดินทางไปศึกษาวิชาการทางด้านธนาคารที่ประเทศญี่ปุ่นกับ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ภรรยาสาววัย 35 ปีของเจ้าคุณอธิการบดีที่มีอายุมากถึง 50 ปีซึ่งมองว่าตัวเองอาภัพไม่เคยมีความรักแม้จะเกิดมารูปร่างหน้าตาสวยงามเกินใครก็ตาม ขณะเดินทางไปฮันนีมูนที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 สัปดาห์

การที่นพพรได้มีโอกาสเข้ามาดูแลการเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่นให้กับเจ้าคุณอธิการบดีและคุณหญิง ทำให้นพพรได้ใกล้ชิดคุณหญิงจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดเป็นความรัก ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นความรักครั้งแรกของทั้งนพพรและคุณหญิงก็ว่าได้ ความใกล้ชิดและการพยายามหาโอกาสใกล้ชิดกันของทั้งคู่ แม้นพพรจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าหลงรักอย่างบ้าคลั่งต่อคุณหญิง แต่คุณหญิงก็ทำได้แต่เพียงการสื่อความนัยผ่านคำพูดและการแสดงออกบางอย่าง ซึ่งด้วยขนบและศักดิ์ศรีของการเป็นลูกเจ้า รวมถึงฐานะภรรยาของเจ้าคุณอธิการบดีที่ทำให้เธอไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น แต่นพพรเองก็ไม่สามารถตีความหมายโดยนัยนี้ออกมาได้ ได้แต่พร่ำบ่นและขยั้นขยอให้คุณหญิงเอ่ยคำว่ารักออกมา ซึ่งคุณหญิงก็ไม่เคยเอ่ยออกมาจนกระทั่งบั้นปลายชีวิตของเธอ

หลังจากเจ้าคุณอธิการบดีและคุณหญิงเดินทางกลับเมืองไทย นพพรซึ่งยังเฮิร์ทจากความรักที่มีอย่างล้นเหลือต่อคุณหญิงก็พร่ำพรรณาผ่านจดหมายหลายฉบับที่มีถึงคุณหญิง ซึ่งคุณหญิงเองก็ตอบกลับบ้างตามสมควรและสื่อความหมายหลาย ๆ อย่างผ่านตัวอักษรในจดหมาย ซึ่งนพพรก็ยังคงเป็นนพพรที่ไม่เข้าใจความหมายโดยนัยและทำได้แต่เพียงการเพียรพยายามให้คุณหญิงเขียนคำว่ารักผ่านจดหมายมา

แต่ระยะเวลาถึง 5 ปีที่ห่างกันไป ทำให้นพพรคลายความรู้สึกเร่าร้อนของความรักลงไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ก่อนที่ความรู้สึกที่มีต่อคุณหญิงจะไม่ต่างอะไรไปกับมิตรภาพที่มีให้กัน ในขณะที่คุณหญิงยังคงภักดีต่อความรักครั้งนั้นโดยไม่ลืมเลือน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่นพพรได้สารภาพรักต่อคุณหญิงที่มิตาเกะ ท่ามกลางโขดหินผาริมลำธารที่ไหลเอื่อยริมเชิงเขามิตาเกะ ซึ่งภายหลังคุณหญิงสะท้อนออกมาเป็นภาพวาดสีน้ำที่เธอมอบให้แก่นพพรในโอกาสที่เขาแต่งงานกับคู่หมั้นที่พ่อของเขาจัดหาให้ แม้ภายหลังเจ้าคุณอธิการบดีจะเสียชีวิตลงและหลังจากกลับจากประเทศญี่ปุ่นมาอยู่ประเทศไทยอย่างถาวรของนพพรแล้ว แต่ความพลุ่งพล่านในจิตใจของนพพรกลับไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนเมื่อครั้งที่พบกันครั้งแรกอีกแล้ว

หม่อมราชวงศ์กีรติล้มป่วยหนักภายหลังทราบข่าวการตัดสินใจแต่งงานของนพพร ก่อนที่นพพรจะทราบความในใจของคุณหญิงในวันที่เขาไปเยี่ยมคุณหญิงและรับของขวัญแต่งงานจากเธอ ซึ่งคือ ภาพวาดสีน้ำที่มิตาเกะ ซึ่งคุณหญิงบอกว่าเป็นที่ที่ “ความรักของเราเกิดขึ้นที่นั่น” ก่อนที่จะตอกย้ำนพพรว่า “ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ” (ศรีบูรพา, ข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งที่ 38, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547. หน้า 157)

ก่อนสิ้นใจคุณหญิงเขียนลงกระดาษเพื่อพูดกับนพพรในสภาพที่เธอไม่มีแม้เรี่ยวแรงจะพูดว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” (ศรีบูรพา, ข้างหลังภาพ พิมพ์ครั้งที่ 38, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547. หน้า 158) ซึ่งเป็นประโยคทองที่ติดตราตรึงใจคนดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้มาก

มีข้อสรุป 2 ข้อจากเรื่องนี้ คือ หนึ่ง นพพรเป็นผู้ชายที่ค่อนข้างซื่อบื้อในเรื่องความรักพอสมควร เขาไม่สามารถตีความนัยใด ๆ ได้เลยแม้กระทั่งยามที่หญิงคนที่เขาเคยรักอย่างสุดหัวใจกำลังจะตาย และเธอต้องมาเฉลยให้เขารู้เอง สอง หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นคนน่าสงสารมากที่เกิดในยุคนั้น ยุคที่เรื่องศักดินาและขนบธรรมเนียมที่เคร่งครัดยังคงบีบรัดรูปแบบการดำรงชีวิตอยู่ ถ้าคุณหญิงเกิดในยุคนี้ เธออาจจะอาศัยเอ็มบอกรักนพพรอย่างง่าย ๆ เพียงคลิกสัญลักษณ์รูปหัวใจและส่งไปเท่านั้น และนพพรอาจจะเข้าใจง่าย ๆ โดยไม่ต้องตีความให้เมื่อยหัวสมอง

นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนมองว่า ปัญหาความรักระหว่างหม่อมราชวงศ์กีรติกับนพพรเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย, ทัศนคติ, อุดมการณ์ และชนชั้น แต่อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ มองว่า “เป็นปัญหาของการตีความ โดยเฉพาะการตีความคำพูดที่ต่างกันของคนทั้งสอง โดยนพพรมีแนวโน้มจะตีความคำพูดหรือพฤติกรรมของ ม.ร.ว.กีรติ ตามความหมายตรงตัว (literal meaning) ในขณะที่ ม.ร.ว.กีรติ นั้นจะสื่อความรู้สึกในใจโดยอิงอยู่กับความหมายเชิงโวหาร (rhetorical meaning) โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว.กีรติ จึงมิได้อยู่ที่ไม่มีคนรักเธอ แต่อยู่ที่คนที่เธอรักมุ่งตีความตามตัวอักษร และไม่สามารถจะตีความตามนัยของโวหารที่เธอใช้ได้ ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่นพพรรบเร้าถามเธอว่ารักเขาหรือไม่ ม.ร.ว.กีรติ จะตอบโดยใช้โวหารการพูดอ้อม (periphrasis) เป็นส่วนใหญ่” (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง, กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2548, หน้า 92)

นอกจากนี้ อ.ชูศักดิ์ ยังมองว่าพฤติกรรมความรักของ ม.ร.ว.กีรติ ที่มีกับนพพรนั้นคล้ายกับแบบฉบับวรรณกรรมโรมานซ์ในยุคกลางของโลกตะวันตกที่เรียกว่า courtly love romance ซึ่งเป็นรักต้องห้ามระหว่างหญิงสูงศักดิ์ที่มีครอบครัวแล้วกับชายหนุ่มที่บูชาความรักยิ่งชีพ โดย อ.ชูศักดิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ความตายของ ม.ร.ว.กีรติจึงเป็นความตายของวรรณกรรมความรักที่ตกไปอยู่ในมือของนักอ่านอ่อนหัด

“ภาพวาด ‘ริมลำธาร’ และ ‘อมตะ/เพชฌฆาตวาจา’ ของ ม.ร.ว.กีรติ ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงนพพรจาก ‘นักอ่านสมัครเล่น’ ไปเป็น ‘นักอ่านอาชีพ’ เพราะภายหลังการตายของ ม.ร.ว.กีรติ นพพรได้ตระหนักว่าข้างหลังภาพมิได้เป็นเพียงกระดาษและฝาผนัง แต่มีชีวิตอยู่ด้วย

“แต่ถ้านพพรต้องการจะเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม นพพรจะต้องมองให้ลึกลงไปอีกได้ด้วยว่า ชีวิตหลังภาพนั้นมิได้ก่อรูปขึ้นจากเลือดและเนื้อ แต่ประกอบสร้างขึ้นด้วยโวหารทางภาษาและขนบทางวรรณกรรมล้วน ๆ” (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง, กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2548, หน้า 95 – 96)

ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าผมเป็นนพพร ผมจะซื่อบื้อเหมือนเขาหรือเปล่า ผมจะคร่ำครวญให้คุณหญิงกล่าวคำว่ารักกับผมหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ผมไม่เคยมองว่าการเอ่ยคำว่า “รัก” มีความสำคัญมากกว่าพฤติกรรรมที่แสดงออกมาซึ่งสามารถตีความโดยนัยได้ ผมอาจจะเป็นคนคิดเล็กคิดน้อยและตีความทุกพฤติกรรมที่คนอื่นมีต่อผม ซึ่งทำให้ผมพอจะประเมินความรู้สึกของคนคนนั้นได้ แม้ผมอาจจะตีความผิดไปก็ได้ ที่สำคัญ ผมเจ้าเล่ห์เพียงพอที่จะตีความเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ

ผมเคยผ่านช่วงเวลาอย่างที่นพพรบ้าคลั่งคุณหญิงแบบคิดถึงและมองเห็นเป็นคุณหญิงทุกลมหายใจเข้าออก และในห้วงเวลาหนึ่งเคยคิดถึงขั้นยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่แรงกดดันทางด้านสังคมและขนบประเพณีอีกมากมายก็ทำให้เพียงแต่คิด แต่ผมโชคดีที่ผมตีความหมายโดยนัยออกและผมไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกับนพพรที่ไปรักคุณหญิงที่มีเจ้าของแล้ว แม้มันจะเป็นเพียงห้วงความสุขเล็ก ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตก็ตามทีแต่ผมก็ไม่สามารถลืมเลือนไปเหมือนที่ความรักของนพพรสามารถตายไปที่มิตาเกะได้

หลายคนเคยพูดทำนองว่า ผู้ชายอาจจะพูดคำว่ารักได้ง่าย ๆ โดยที่อาจจะไม่ได้มีความรู้สึกรักที่แท้จริง แต่พูดเพื่อต้องการประโยชน์บางอย่าง ในขณะที่คำว่ารักจะออกมาจากปากผู้หญิงได้ก็ต่อเมื่อเธอคิดคร่ำครวญอย่างดีแล้วว่ามันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงและมันถึงเวลาแล้ว คำว่ารักของผู้หญิงจึงไม่ใช่คำพร่ำเพรื่อที่สักแต่ว่าพูดออกมา มันเหมือนที่เขาบอกว่า ผู้หญิงจะยอมมีอะไรกับใครก็เพราะรัก แต่ผู้ชายมีแต่ความใคร่

มันอาจจะเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรงพอสมควร ซึ่งผมในฐานะผู้ชายก็ไม่ยอมรับมันอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่จะเป็นแบบนี้

ในโลกยุคเอ็ม, iPod และ iPhone ผมคิดว่าเรายังสามารถหาคนอย่างนพพรและ ม.ร.ว.กีรติ ได้อยู่บ้างประปราย ผมว่ามันโรแมนติกดีกับการตีความหมายโดยนัย แม้บางครั้งหัวใจจะเรียกร้องอยากได้ยินคำตอบตรง ๆ ให้เร็วที่สุดก็ตาม ที่สำคัญผู้หญิงเป็นอะไรที่เข้าใจยากเหลือเกิน การตีความหมายจึงอาจจะต้องคิดซับคิดซ้อนหลายชั้น และอาจจะนำไปสู่การตีความผิดก็เป็นได้

นพพรเข้าใจว่าข้างหลังภาพนั้นมิได้มีแค่กระดาษแข็งแผ่นหนึ่งและต่อไปคือผนัง แต่ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต และเป็นชีวิตที่ตรึงตราอยู่บนดวงใจของนพพรตลอดไปก็ต่อเมื่อมันสายไปแล้ว ผมหวังว่าจะไม่เป็นแบบนพพรที่ไม่สามารถตีความหมายโดยนัยอะไรได้ และไม่อยากเป็นแบบ ม.ร.ว.กีรติ ที่ต้องตายโดยปราศจากคนที่รักผม และถ้ามีโอกาสที่มิตาเกะเกิดขึ้นผมก็จะไม่ปล่อยให้ความหมายโดยนัยใด ๆ ผ่านหูผ่านตาไปเหมือนนพพรเป็นแน่

๓ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

gftพี่ชัย เคยดูเวอร์ชั่นที่เป็นหนังหรือเปล่า เศร้ามากเลยนะ
ตอนที่ คุณหญิงถามแม่ว่า "แม่คะ หนูสวยมั้ยคะ"
................Too Optimistic

Odysseus กล่าวว่า...

เคยฟังพี่เกริ่นๆ ให้ฟัง
พอได้มาอ่านเรื่องย่อ...

พลุ่งพล่านเลยครับ (อารมณ์หน่ะ)
ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตเรียบง่ายของตัวเอง จะไปเหมือนนิยายได้

แต่เหมือนชิบหายเลย ...

จะต่างกันก็เพียงการกระทำของผมกับนพพร

นพพรเลือกที่จะกล้าแสดงความรักอย่างต่อเนื่อง ...
แต่ผมเลือกที่จะถอย ซ้ำยังช่วยประคับประคองให้เขารักกันต่อไป...

อย่างว่า เราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เราทำลงไปที่มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำหรือเปล่า เราทำได้เพียงแค่...............ยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนังสืออะไรก้อม่ายรุ

อ่านแล้วมาน้ำตาตกในประโยคสุดท้ายของเล่ม