วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

บลูมส์เบอร์รี่กรุ๊ป

ผมรู้จัก Bloomsbury Group หรือ กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ ครั้งแรกหลายปีก่อนเมื่อได้อ่านหนังสือ “ถนนหนังสือ” ซึ่งเขียนโดย อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ชื่อนี้เริ่มเข้ามาอยู่ในความนึกคิดของผม แต่ผมก็ยังไม่มีเวลาที่จะไปค้นหาที่มาและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำนี้

ตอนที่ผมมาถึงออสเตรเลียในสัปดาห์แรก ผมไปเที่ยวชมห้องสมุดแห่งรัฐควีนส์แลนด์ หรือ State Library ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบริสเบนที่ผมเดินทางไปเรียนต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์

หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านที่นี่ เป็นวรรณกรรมที่เขียนโดย เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ชื่อเรื่อง Mrs Dalloway หลาย ๆ คนรู้จัก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ จากหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง The Hours ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของสามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ Mrs Dalloway โดยมีเรื่องราวของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ในฐานะคนเขียนหนังสือเล่มนี้อยู่ในสามเหตุการณ์นั้นด้วย

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นหนึ่งในสมาชิกของบลูมส์เบอร์รี่กรุ๊ป เช่นเดียวกับจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก และเป็นเจ้าของทฤษฎีเคนส์เนเซี่ยน (Keynesian) ที่ผมบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนเรื่องราวส่วนหนึ่งของเขา

นอกจากนี้ ยังมีนักประพันธ์อีกหลาย ๆ คน กวี และ จิตรกรชื่อดัง
และครั้งหนึ่ง ความคิดเห็นของกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ทางด้านศิลปะ คือ มาตรฐานของประเทศอังกฤษ

บลูมส์เบอร์รี่เป็นชื่อของพื้นที่บริเวณตอนกลางของกรุงลอนดอน

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (ประมาณ ปี 1906) กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ซึ่งถูกตั้งขึ้นอย่างหลวม ๆ โดยเพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปิน โดยสมาชิกจะมาพบปะกันบ่อยครั้ง นั่งคุยกัน ถกเถียงกัน และวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องทางด้านศิลปะไปจนถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม ในยุครุ่งเรื่องทางปัญญาของสังคมอังกฤษ
พวกเขามารวมตัวกันที่บ้านของเวอร์จิเนีย และ วาเนสซ่า สตีเฟ่น ซึ่งต่อมากลายเป็น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ และ วาเนสซ่า เบลล์

สมาชิกบางคนในกลุ่มอาจจะเรียกว่าอยู่ในขั้นอัจฉริยะ และบ้างก็เป็นพวกที่มีความสามารถพิเศษ แต่คุณสมบัติที่สำคัญ คือ พวกเขาล้วนเป็นปัญญาชน
หนังสือเกี่ยวกับกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่บางเล่มกล่าวถึงกลุ่มนี้ว่าเป็น ที่รวมของพวกคนหัวสูง คนมีความรู้สูง ศิลปิน พวกคนชั้นกลางค่อนข้างสูง และพวกที่ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน บางเล่มบอกว่า พวกเขาเป็นพวกที่ว่าง ไม่มีงานทำ ไม่ใช่เพราะตกงาน แต่เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว วัน ๆ ก็คุยกันเรื่องศิลปะ การเมือง และจากการคุยกัน ก็นำไปสู่การสร้างธุรกิจ ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็อาจจะเป็นในกลุ่มเศรษฐีที่ชอบตีกอล์ฟ และก๊วนกอล์ฟก็มักจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง ฐานะดี การพูดคุยในก๊วนกอล์ฟก็นำไปสู่ดีลธุรกิจใหญ่ ๆ ได้เช่นกัน
ปี 1920 สมาชิกจำนวนสิบสามคนร่วมกันตั้ง Memoir Club ขึ้นเพื่อทานอาหารร่วมกัน และอ่านบันทึกความทรงจำให้กันและกันฟัง
กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่เชื่อว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่สามารถแสดงถึงการบรรลุขั้นสูงสุดของมนุษย์ พวกเขาจึงต้องหมั่นฝึกฝนงานทางด้านศิลปะ ซึ่งออกมาในรูปของ การเขียนนวนิยาย เขียนประวัติบุคคล และ การวิจารณ์ศิลปะ ที่ก่อให้เกิดอิทธิพลต่อวงการศิลปะของอังกฤษอย่างมาก

พจนานุกรมหลาย ๆ เล่มให้ความหมายของ Bloomsbury Group ว่าเป็นกลุ่มของนักเขียนและศิลปิน
แต่อิทธิพลจากการพบปะกันของสมาชิกกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่มิได้มิแต่เพียงบทบาทในเชิงศิลปะเท่านั้น อิทธิพลสำคัญเกิดขึ้นในเรื่องเศรษฐกิจและกิจการระหว่างประเทศด้วย
แนวคิดพื้นฐานของคนในกลุ่มมีตั้งแต่ขวาจัดไปยังซ้ายจัด และแนวคิดทางศาสนาอาจจะกล่าวได้ว่า พวกเขาไม่มีใครเป็นคริสเตียนที่แท้จริงเลย
คุณูปการของกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่อาจจะเห็นได้จาก ทฤษฎีความงามและงานวิจารณ์ทางศิลปะของ โรเจอร์ ฟราย (Roger Fry), ภาพวาดของ วาเนสซ่า เบลล์ (Vanessa Bell) และ ดันแคน แกรนส์ (Duncan Grants), หนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes), วรรณกรรมหลายเล่มของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ (Virginia Woolf) และ ฟอร์สเตอร์ (E.M. Forster) และงานเขียนและงานวิจัยทางด้านกิจการระหว่างประเทศและจิตวิทยาชุมชนของเลโอนาร์ด วูลฟ์ (Leonard Woolf)

เวอร์จิเนีย วูลฟ์ เริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักประพันธ์อย่างไม่รีบร้อนนักด้วยการเป็นนักวิจารณ์หนังสือ โดยเขียนงานวิจารณ์ให้กับ The Times Literary Supplement หลายปีก่อนที่จะเขียนนวนิยายเรื่องแรกของเธอ
The Voyage Out เป็นผลงานชิ้นแรกของ เวอร์จิเนีย วูลฟ์ เธอใช้เวลากว่าเจ็ดปีเขียนมันขึ้นมา ซึ่งออกมาในช่วงต้น ๆ ที่กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่เริ่มรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ในปี 1915
ดันแคน แกรนส์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่เล่าว่า เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ใช้เวลาวันละสองชั่วโมงครึ่งไม่ขาดไม่เกินในตอนเช้าทุกวันเขียนนวนิยายเรื่องนี้
สี่ปีถัดมา Night and Day เป็นผลงานชิ้นที่สอง และ ปี 1921 รวมเรื่องสั้นในชื่อหนังสือ Monday or Tuesday ก็กลายเป็นผลงานชิ้นที่สามของเธอ ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นผลงานโหมโรงสำหรับ Jacob’s Room ซึ่งออกมาในปีถัดไป
Jacob’s Room แสดงถึงเทคนิคในการสร้างงานเรื่องสั้นที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัว และแสดงถึงการค้นหาจุดแข็งของตัวเองพบแล้ว ผลงานต่อ ๆ มาจึงแสดงถึง สุดยอดงานในชีวิตนักเขียนของ เวอร์จิเนีย วูลฟ์
Mrs.Dalloway (1925), To the Lighthouse (1927), และ The Waves (1931) คือ นวนิยายสามชิ้นเอกของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ ซึ่งขึ้นไปอยู่แถวหน้าของประวัติศาสตร์หนังสือแนว Fiction ของประเทศอังกฤษ และได้รับการพูดถึงอยู่จนถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้น เวอร์จิเนีย วูลฟ์ มีผลงานนวนิยาย หนังสือแนวสิทธิสตรี และ ก่อนที่จะเสียชีวิต เวอร์จิเนีย วูลฟ์มีผลงานนวนิยาย เรื่อง Between the Acts
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นนักเขียนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ และสามี คือ เลโอนาร์ด วูล์ฟ ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Hogarth ซึ่งตีพิมพ์งานที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานของ ฟรอยด์ (Freud), เอลเลียท (T.S. Eliot) และ ฟอร์สเตอร์ (E. M. Forster)
ผลงานเหล่านี้หลายงานภายหลังได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังที่หลาย ๆ คนรู้จัก โดยเฉพาะงานของฟอร์สเตอร์ เช่น A Room with a View, Howards End และ A Passage to India เป็นต้น

สำหรับ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เข้ามาอยู่ในกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่จากสายสัมพันธ์ของเพื่อน ๆ เคมบริดจ์ และเป็นที่ยอมรับของคนในกลุ่มด้วยความประทับใจในตัวของเคนส์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะศิลปะการพูดของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานที่ดูจะแตกต่างจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็ตาม
เขาเริ่มต้นการเรียนที่เน้นทางด้านคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะ งานวิทยานิพนธ์ทางด้านทฤษฎีความน่าจะเป็น ที่ดูเหมือนเขาจะไปได้ดีทางด้านคณิตศาสตร์ แต่ทางที่เขาเลือกกลับเป็นทางด้านเศรษฐศาสตร์
ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เคนส์ทำงานให้กับกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังคงใช้ชีวิตในวันหยุดสุดสัปดาห์คลุกคลีกับกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่
เคนส์เป็นตัวแทนการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference) การประชุมครั้งนี้ ทำให้เคนส์ตัดสินใจลาออกจากกระทรวงการคลัง และเก็บตัวที่บลูมส์เบอร์รี่เขียนหนังสือที่สร้างความฮือฮาและแสดงถึงความไม่เห็นด้วยหลาย ๆ เกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพในหนังสือชื่อว่า The Economic Consequences of the Peace ในปี 1919 ในหนังสือเล่มนี้ เคนส์แสดงความเห็นว่า การที่ประเทศเยอรมันต้องจ่ายค่าปฏิกรสงครามจำนวนมากให้แก่กลุ่มประเทศที่ชนะสงครามโลกนั้นจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้ โดยเฉพาะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน และจะทำให้เยอรมันไม่ยอมจ่ายค่าปฏิกรสงคราม และนำไปสู่การสะสมอาวุธครั้งใหม่ทั่วยุโรป เพราะ เกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง
การคาดการณ์ครั้งนั้นของเคนส์แม่นยำมาก ไม่นานนัก ข้อตกลงกรุงปารีสก็ถูกบอกเลิก เพราะ สถานการณ์เป็นไปดังที่เคนส์กล่าวถึง และทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจับตามองมาที่เคนส์
เคนส์นำเสนอแนวทางการควบคุมวงจรการค้าในช่วงการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังปี 1929 โดยออกหนังสือสำคัญสองเล่ม คือ A Treatise on Money (1930) และ The General Theory of Employment, Interest and Money (1936) ซึ่งนำเสนอแนวทางการใช้บทบาทของรัฐบาลในการควบคุมเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐบาล เคนส์เห็นว่า การวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐไม่ควรจะมองแค่เรื่องรายรับรายจ่ายของรัฐบาลเท่านั้น ควรใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย นโยบายภาครัฐในความเห็นของเคนส์จึงสามารถควบคุมการตกต่ำหรือพุ่งขึ้นของวงจรการค้าได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะควบคุมปริมาณการจ้างงานและการลงทุนของประเทศ
งานของเคนส์นำไปสู่จุดจบของแนวคิด laissez-faire ซึ่งครอบงำแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์มานานนักแต่งานของอดัม สมิธ ซึ่งก่อให้เกิดแนวคิด Classical Economics ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า ระบบเศรษฐกิจจะสามารถทำงานได้ดีที่สุดเมื่อไม่มีการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของคนแต่ละคนและส่งผลต่อสังคมในที่สุด
ปี 1936 รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำโดยประธานาธิบดีรูสเวลส์ประกาศแนวทาง “New Deal” ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนแนวคิดของเคนส์ (อย่างไรก็ตาม แฟน ๆ ของเคนส์อาจจะอ้างว่า “New Deal” ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา (และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก) กลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับอัตราการจ้างงานที่สูง แต่พวกที่ต่อต้านเคนส์ก็อาจจะอ้างว่า เศรษฐกิจอเมริกากลับมาบูมอีกครั้งเพราะผลจากสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก)
อิทธิพลของเคนส์ยังคงมีผลอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทฤษฎีของเคนส์ก่อให้เกิดกลุ่มแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Keynesians, Post-Keynesians รวมถึงการกลับมาใหม่ของ Classical Economics และอีกหลาย ๆ แนวความคิด

กลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ในอีกนัยหนึ่ง ถูกกล่าวถึงว่า ความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนนี้เป็นความสัมพันธ์แบบโฮโมเซ็กช่วล เช่นเดียวกับเคนส์ที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทจึงอาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบคนรัก

อิทธิพลของกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่สะท้อนออกมาในผลงานของสมาชิกภายในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นงานทางเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ งานนวนิยายของวูลฟ์ และ งานศิลปะของสมาชิกกลุ่ม
อิทธิพลและแนวคิดของกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ยังคงเป็นสนใจและศึกษาอยู่ตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้ การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยยังคงอาศัยงานของสมาชิกกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่เป็นกรณีศึกษาอยู่เรื่อยไป เช่นเดียวกับงานเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ที่ยังได้รับการต่อยอดไปเรื่อย ๆ
บลูมส์เบอร์รี่จึงมิใช่แค่สถานที่ แต่เป็นชีวิตและจิตใจของหลาย ๆ คน

หมายเหตุ:-
สมาชิกเริ่มต้นของกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่
Clive Bell
Vanessa Stephen Bell
E.M. Forster
Roger Fry
Duncan Grant
Maynard Keynes
Desmond MacCarthy
Molly MacCarthy
Adrian Stephen
Karin Costelloe Stephen
Lytton Strachey
Saxon Sydney-Turner
Leonard Woolf
Virginia Woolf
สมาชิกเพิ่มเติมภายหลัง
Angelica Bell
Julian Bell
Quentin Bell
David (Bunny) Garnett

หนังสือที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่ที่น่าสนใจบางเล่ม
Bell, Quentin, Bloomsbury, New York: Basic Books, 1968.
Gadd, David, The Loving Friends: A portrait of Bloomsbury, London: Hogarth Press, 1974.
New York: Harcourt, Brace Jovanovich, 1974.
Johnstone, J.K., The Bloomsbury Group: A Study of E.M. Forster, Lytton Strachey, Virginia Woolf and their circle, London: Secker & Warburg, 1954.
New York: Noonday Press, 1954.
Rosenbaum, S.P., ed., The Bloomsbury Group, London: Croom Helm Limited, 1975.
Toronto: University of Toronto Press, 1975
Shone, Richard, Bloomsbury Portraits, 1975 (166 illustrations)

และยังมีหนังสืออีกมากมายและงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบลูมส์เบอร์รี่

อ่านเพิ่มเติม:
1. Robbins, R. G., The Bloomsbury Group: A Selective Bibliography, Washington: Price Guide, Publishers, 1978.
2. Bell, Q., Bloomsbury, London: The Trinity Press, 1968.
3. Johnstone, J.K., The Bloomsbury Group: A Study of E.M. Forster, Lytton Strachey, Virginia Woolf and their circle, London: Secker & Warburg, 1954.
4. Dowling, D., Bloomsbury Aesthetics and The Novels of Forster and Woolf, London: Macmillan, 1985.
5. Heilbroner, R. L., The Worldly Philosophers: The Lifves, Times, and Ideas of The Great Economic Thinkers, New York: Touchstone, 1999.
6. Harrod, R. F., The Life of John Mayard Keynes, Middlesex: Penquin Books, 1972.
7. Moggridge, D. E., Maynard Keynes: An Economist’s Biography, New York: Routledge, 1992.

๒ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตอนนี้หนูกำลังเรียนวิชา สังเขปวรรณคดีอังกฤษ Survey of the Literature English
อยู่ค่ะ และก็ศึกษาถึงความเป็นมาของ Bloomsbury Group ค่ะ ดีมากเลยค่ะ สนุก มีอะไรหลายอย่างให้อ่าน น่าติดตาม
โดยเฉพาะ Virginia Woolf แต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจ
จาก นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
จ.นครศรีธรรมราช

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยได้ยินเรท่องของเค้ามาบางเหมือนกัน