วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

น้ำซ่า

สุดสัปดาห์ก่อน ผมกลับไปเดินเที่ยวแถวพาหุรัดหลังจากหายหน้าหายตาจากแถบถิ่นนั้นมาเป็นเวลายาวนาน

ว่ากันจริง ๆ แล้ว ผมเดินเข้าออกแถบพาหุรัดเรื่อยไปถึงห้างเมอร์รี่คิงหลังวังบูรพา, สะพานเหล็ก และโรงหนังเฉลิมไทยมาเป็นเวลาเกือบ 7 ปีเต็ม ๆ ในช่วงที่ผมเป็นนักเรียนมัธยมที่มีโรงเรียนตั้งอยู่แถบนั้น

กิจกรรมหนึ่งที่ผมชื่นชอบมาก ๆ ก็คือ หลังวันประกาศผลสอบซึ่งโดยมากกิจกรรมที่เราจะทำกันมีไม่กี่อย่าง เช่น การไปรับสมุดพก จากนั้นก็ทิ้งท้ายด้วยการเตะฟุตบอลพลาสติกกันอย่างยาวนานเพราะเราจะไม่ได้เจอกันอีกพักหนึ่งเนื่องจากปิดเทอมยาว หลังเตะฟุตบอล ผมมักจะใช้ช่วงเวลาว่าง ๆ ตอนบ่ายในการเดินไปร้านหนังสือสองร้านด้วยกัน

ร้านหนึ่ง คือ ร้านซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก โดยเมื่อเดินออกจากประตูใหญ่ฝั่งริมถนนตรีเพชรแล้วก็เลี้ยวซ้ายเดินขึ้นไปผ่านโรงเรียนเพาะช่าง, แยกบ้านหม้อที่มีร้านไนติงเกลอยู่, ดิโอลด์สยาม ไปจนถึงแยกที่สองก็เลี้ยวซ้าย แถบนั้นจะเป็นแหล่งขายถ้วยรางวัลซึ่งจะมีร้านขายถ้วยรางวัลเรียงกันอยู่เป็นตับ ระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ผมนึกชื่อร้านหนังสือแห่งนี้ไม่ออกแล้ว จำได้แต่เพียงว่าร้านนี้เป็นร้านที่ขายหนังสือทั่ว ๆ ไปแต่จะมีนิตยสารต่างประเทศค่อนข้างมาก สมัยนั้นโลกของนักเรียนมัธยมอย่างผมแคบมาก การได้เห็นหนังสือต่างประเทศตีพิมพ์เรื่องราวที่เราสนใจ แม้จะอ่านออกเพียงแค่หัวเรื่องก็เป็นความสุขมาก บางครั้งผมถึงกับใจป้ำควักเงินซื้อนิตยสารไทม์หรือ Far Eastern Economic Review ฉบับพิเศษติดมือกลับบ้านไปเลยทีเดียว ซึ่งสนนราคาก็ถือว่าแพงเอามาก ๆ สำหรับคนที่ไม่มีรายได้อะไรนอกจากเงินค่าขนมจากพ่อแม่

อีกร้านหนึ่งคือ แพร่พิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ตั้งอยู่บริเวณหลังห้างเมอร์รี่คิง ปกติแล้วผมจะเดินจากโรงเรียน ข้ามฝั่งไปพาหุรัดเลี้ยวขวาที่หัวมุมบริเวณแยกดิโอลด์สยาม (หรือแยกบ้านหม้อ) ซึ่งจะมีร้านพระจันทร์ซึ่งเป็นร้านขายการ์ดทุกชนิด จากนั้นทะลุห้างเซ็นทรัลออกไปยังบริเวณข้าง ๆ ห้างเมอร์รี่คิง ซึ่งจะมีร้านเคเอฟซีตั้งอยู่หัวมุมถนน จากนั้นเดินทะลุซอยเล็ก ๆ หลังห้างเมอร์รี่คิงซึ่งจะออกไปยังถนนใหญ่ซึ่งจะมีร้านแพร่พิทยาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่

ช่วงแรก ๆ ที่ผมไปร้านแพร่พิทยานี้ ยังเป็นตึกแถวเก่า ๆ อยู่เลย การเรียงหนังสือก็ไม่ได้มีหลักการชัดเจนเหมือนในปัจจุบันที่ปรับปรุงจนเป็นร้านติดแอร์ทันสมัยดูน่าใช้บริการ แต่ก็ขาดความขลังในแบบร้านหนังสือเก่า ๆ ไปเยอะเลย ร้านแพร่พิทยาก็เป็นร้านที่ขายหนังสือแทบทุกประเภทเหมือนร้านหนังสือแบบเชนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ร้านหนังสือยังไมได้ขึ้นห้าง และห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์สโตร์ต่าง ๆ ยังไม่ยกทัพเข้าครองพื้นที่ตลาดสินค้าปลีกของคนไทยนั้น ร้านอย่างแพร่พิทยาเป็นหนึ่งในร้านหนังสือไม่กี่ร้านที่ผมอยากเดินเข้าไปเยี่ยมชม

เนื่องจากที่ร้านแพร่พิทยาขายหนังสือภาษาไทย ทำให้ผมเสียเงินซื้อหนังสือที่ร้านนี้ไปไม่น้อยเพราะราคาไม่ได้แพงเหมือนหนังสือต่างประเทศ แต่ก็ไม่มากในระดับที่ยอมอดค่าขนมมาซื้อหนังสือเพราะผมยังมีแหล่งหยิบยืมหนังสืออย่างห้องสมุดของโรงเรียนอยู่

เกือบ 15 ปีหลังจากเรียนจบระดับมัธยม ผมไปเดินแถบพาหุรัดและร้านหนังสือทั้งสองนั้นน้อยครั้งมาก ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นแถบที่เรียกว่าพาหุรัด ซึ่งจะมีร้านค้าขายสินค้าหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นรองเท้า, เครื่องเขียน, เครื่องกีฬา, อาหาร, ขนม, และอื่น ๆ อีกมากมาย สิบห้าปีผ่านไปทุกอย่างยังเหมือนเดิม ร้านค้าจำนวนมากยังคงตั้งอยู่

ร้านสมใจสามสาขาก็ยังคงขายเครื่องเขียนเหมือนเดิม ร้านสมใจเป็นร้านเครื่องเขียนที่ในสายตาของผมถือว่าเป็นร้านไฮโซร้านหนึ่งเพราะของแต่ละอย่างที่ร้านสมใจราคาค่อนข้างแพง โดยเฉพาะสำหรับเด็กเพาะช่างแล้วซึ่งต้องซื้อสีที่ใช้ในการวาดรูปก็แทบจะอดมื้อกินมื้อมาซื้อสีเอาเลยทีเดียว

ร้านสมใจมีสามสาขา สาขาหนึ่งเป็นร้านขายกระดาษสีและแผ่นโปสเตอร์ต่าง ๆ โดยเป็นร้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของพาหุรัดมากที่สุด ร้านสมใจสาขาสองจะเน้นขายหนังสือเรียนเป็นหลัก ซึ่งช่วงใกล้เปิดเทอมจะเห็นผู้ปกครองและนักเรียนเข้าอุดหนุนร้านจนแน่นขนัด ร้านสมใจสาขาสองนี้จะตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบตรงฝั่งประตูตรีเพชรพอดี ในขณะที่ร้านสมใจสาขาสามจะเป็นร้านขวัญใจของเด็กเพาะช่างเพราะที่นี่ขายสี, พู่กัน และเครื่องเขียนสำหรับเด็กเพาะช่างโดยเฉพาะ จริง ๆ แล้วร้านสมใจแต่ละร้านตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก โดยเฉพาะสมใจสาขาสองและสามห่างกันไปไม่กี่ห้อง

หน้าร้านสมใจสาขาสองในตอนกลางวันจะเป็นแผงขายรองเท้าและเครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้แม่ของเพื่อนผมสมัยเรียนประถมก็ตั้งแผงขายรองเท้าอยู่ตรงนี้ ซึ่งผมก็เคยไปอุดหนุนมาแล้ว แต่ล่าสุดกลายเป็นแผงขายรองเท้าเจ้าใหม่ไปแล้ว และผมเองก็ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนสมัยประถมคนนี้มานานมากแล้ว

ถัดจากร้านสมใจสาขาสามไปนิดหน่อยเป็นโรงเรียนวัดเลียบซึ่งหลายปีก่อนดังมาก ๆ ในฐานะโรงเรียนกวดวิชาเข้า ม. 1 โดยเฉพาะเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ, สตรีวิทยา หรือศึกษานารี แน่นอนว่าผมเป็นศิษย์เก่าที่นี่เช่นกัน

แต่เมื่อเดินย้อนกลับไปทางพาหุรัดและเลยร้านสมใจสาขาหนึ่งไปเล็กน้อยเป็นร้าน “สวีท” ซึ่งขายอาหารที่ออกไปในแนวฝรั่ง สมัยที่เรียนมัธยมนั้น ผมเคยมากินอาหารร้านนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะว่าลิ้นผมไม่คุ้นกับอาหารแนวฝรั่งเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามร้านสวีทก็ยังคงอยู่ยั้งยืนยงมาถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับร้านน้ำซ่าตรงบริเวณที่แยกเข้าซอยซึ่งในซอยจะมีแผงขายเสื้อผ้าจำนวนมาก น้ำซ่าเป็นการนำน้ำหวานมาผสมกับน้ำรสซ่าคล้ายกับสไปรท์หรือเซเว่นอัพ โดยน้ำหวานจะมีหลากหลายสีให้เลือกตั้งแต่น้ำส้ม, น้ำเขียว, น้ำแดง, และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะผสมกับน้ำซ่าเสมอ ซึ่งรสชาติที่ออกมาก็จะเป็นรสซ่าผสมกับรสหวาน มันอร่อยในแบบที่ยากที่จะอธิบายออกมาได้แต่มันติดลิ้นมาจนทุกวันนี้ ผมจำได้ว่าเกือบทุกครั้งที่เดินผ่านบริเวณนี้อดไม่ได้ที่จะต้องซื้อกินทุกครั้งไป โดยรสโปรดของผมจะสลับกันระหว่างน้ำส้มกับน้ำเขียว น้ำซ่าร้านนี้อยู่คู่พาหุรัดมาอย่างน้อยก็เกือบยี่สิบปีตั้งแต่ผมเรียนมัธยมเป็นต้นมา ล่าสุดน้ำซ่าราคาขึ้นไปถึงแก้วละ 10 บาทสำหรับแก้วแบบเทคอะเวย์และ 7 บาทสำหรับยืนดื่มที่ร้านเมื่อเทียบกับสมัยเรียนมัธยมที่แก้วเทคอะเวย์แก้วละ 5 บาทและ 3 บาทสำหรับยืนดื่มที่หน้าร้าน

ที่หัวมุมถนนตรีเพชรตัดกับแยกดิโอลด์สยามและเป็นปลายทางของพาหุรัดเป็นร้านพระจันทร์ซึ่งก่อนหน้านี้จะขายแต่การ์ดอวยพรในเทศกาลต่าง ๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ร้านนี้จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่เดินทางมาซื้อหาการ์ดอวยพรปีใหม่ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาสู่ตลาดการ์ดอวยพรของบริษัทผลิตการ์ดอวยพรจากต่างประเทศก็ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อร้านพระจันทร์ ล่าสุดร้านพระจันทร์ต้องหันมาเปิดพื้นที่ให้เช่าขายอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม การ์ดอวยพรก็ยังมีให้เห็นในร้านพระจันทร์อยู่ดี

ผมเดินผ่านแถบขายชุดแต่งงานและชุดเครื่องแต่งกายแบบไทยไปโดยยังหวนคิดถึงอดีตสมัยใส่ชุดนักเรียนกางเกงขาสั้น ก่อนจะเดินข้ามถนนเข้าสู่สำเพ็งต่อไป

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ให้รายละเอียดดีจัง แต่บอกตรงๆ พี่ไปแถวนั้นไม่ถึงห้าครั้งตั้งแต่เกิดมา

เป็นเด็กผู้ชายนี่ดีเนอะ