วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ภิกษุสันดานกา

ผมนั่งอ่านข่าวพระไทยออกมาประท้วงการแสดงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้แต่นั่งหัวเราะไปพร้อม ๆ กับคลิกไปอ่านข่าวพระพม่าเป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร

พระจากสองประเทศที่อยู่ติดกันให้ภาพที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ผมไม่แน่ใจว่า ยามที่เราต้องการพระไทยในเชิงจิตวิญญาณ พระไทยเหล่านั้นหายไปไหนกันหมด

เกือบสองเดือนก่อน ผมไปลาวพร้อมกับน้องอีกหนึ่งคน ภาพวัดและสงฆ์ลาวในเวียงจันทร์ทำให้ผมเกิดความอยากอ่านหนังสือธรรมะขึ้นมาหลังจากทิ้งไปนานหลายปี เพราะ ผมไพล่ไปคิดว่า ถ้าเราเข้าถึงธรรมะเหมือนดั่งที่พระลาวเข้าถึงแล้วไซร้ ชีวิตของเราคงจะสงบ ใบหน้าและเรือนกายจะเปล่งปลั่งดั่งที่พระลาวเป็นอยู่

ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับพระลาวและเดินชมวัดลาวค่อนข้างมากพอสมควร พระลาวอาศัยประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาในการเข้าถึงความเจริญที่เป็นไปผ่านช่องโทรทัศน์ไทยที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศลาว พวกเขาได้เห็นการประยุกต์ศาสนาเข้ากับการเมืองและเศรษฐกิจมากกว่าการนำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัฒนธรรมอย่างที่เป็นไปในลาว พวกเขาชื่นชมประเทศไทยแต่ก็ไม่ได้คิดอยากจะเป็นอย่างประเทศไทย พวกเขาเห็นว่ามันวุ่นวายสิ้นดี

พระรูปหนึ่งบอกผมว่า อยากจะหาโอกาสไปกรุงเทพฯ แต่ท่านก็คิดว่าคงอยู่ได้ไม่นานนัก ท่านคงอยากจะเห็นว่าความเจริญทำให้จิตใจเปลี่ยนไปอย่างไร พระรูปนั้นยังบอกผมว่า พุทธพาณิชย์ในลาวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พระมีหน้าที่สองอย่างคือบวชเรียนและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนในประเทศเท่านั้น

ในการเที่ยวลาวครั้งนั้น ผมไปทั้งวัดที่เวียงจันทร์และหลวงพระบาง วัดในเวียงจันทร์เหมือนเป็นที่พึ่งทางใจอย่างแท้จริง เป็นที่ให้การศึกษาและสร้างปัญญาให้เยาวชนคนลาว ในขณะที่วัดในหลวงพระบางให้ความรู้สึกของการเป็นห้องแสดงสินค้าของประเทศลาวเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินชม การทำบุญใส่บาตรตอนเช้าเหมือนการแสดงโชว์ใหญ่ประจำวันที่รอบข้างเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ชักภาพกันอย่างสนุกสนาน พร้อมคิดในใจว่า เรามาถึงลาวแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ใช้เวลาสายถึงบ่ายเดินดูวัดเก่าที่แสดงโชว์ทั่วเมือง ก่อนไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่วัดอีกแห่งหนึ่งที่มีมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์สวยที่สุด แต่ตกดึกนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ก็นั่งดวดเหล้าเบียร์อยู่รอบ ๆ วัดนั่นเอง นี่อาจจะเป็นส่วนดีและส่วนแย่ที่คลุกเคล้าปะปนกันของการเป็นเมืองมรดกโลกจากการประกาศขององค์การยูเนสโก้

ในขณะที่วัดไทยส่วนมากที่ผมได้สัมผัสกลับให้ความรู้สึกของความเป็นทุนนิยมที่เคลือบโบสถ์ วิหาร และกุฏิ จนทำให้เราคิดแต่เพียงว่า การบริจาคเงินมาก จะทำให้ได้บุญมาก การบริจาคเงินน้อยย่อมเป็นสัดส่วนแปรผันเป็นความสุขที่จะได้น้อยตามไปเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การสร้างการตลาดแบบหลายชั้นทับซ้อน (MLM) ของการบริจาคเงินเพื่อสร้างพระพุทธรูปหรือศาสนสถานใหญ่โตโอ่อ่าจึงสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมแบบไทยเราได้อย่างลงตัวเหมาะเจาะ และทำความเข้าใจได้โดยง่าย

นั่นทำให้ เมื่อภาพภิกษุสันดานกาเปิดเผยสู่สาธารณชนจึงเป็นเหมือนการถูกทุบหม้อข้าวครั้งใหญ่ แรงกระเพื่อมย่อมส่งผลให้ต้องมีนอมินีลุกขึ้นมาประท้วงในลักษณ์เดียวกับที่เราเห็นนักการเมืองไทยทำกันอยู่ หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับผลกระทบใด ๆ เคยทำไว้ อย่างกรณีภาพยนตร์ไทยบางเรื่องที่มีเนื้อหาไปกระทบคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้และถูกคนกลุ่มเหล่านั้นลุกขึ้นประท้วงกันเป็นกิจวัตร

โดยที่สงฆ์ซึ่งถือเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณกลุ่มนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจภาพเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง อาจจะต้องการนำภาพเหล่านั้นไปจัดแสดงในบริเวณวัดเพื่อให้ประชาชนที่เดินทางไปค้นหาที่พึ่งทางจิตวิญญาณได้เห็นภาพและเข้าใจถึงแก่นแท้ของมัน มากกว่าจะเดินทางเข้าวัดเพื่อร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์พุทธพาณิชย์ โดยมีจตุคามรามเทพรุ่นใหม่ ๆ หรือพระเครื่องรุ่นเจ๋ง ๆ ที่รอวันกลับมาทวงส่วนแบ่งทางการตลาดที่เสียไปช่วยสร้างโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งเหมาะกับนักเรียนเศรษฐศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ทั้งหลายควรมานั่งศึกษาว่าตลาดเสรีเป็นอย่างไรและตลาดผูกขาดมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบภิกษุที่มีความปรารถนาลามก ไร้ยางอาย แสวงหาลาภสักการะชื่อเสียงในทางที่ขัดหลักพระธรรมวินัยว่า “มีความประพฤติเยี่ยงกา” (สุรพศ ทวีศักดิ์, “ค้านภิกษุสันดานกากับการแสดงท่าทีต่อพระพม่า บทพิสูจน์ภาวะผู้นำทางจิตปัญญา”, มติชนรายวัน, 7 ตุลาคม 2550)

ภาพภิกษุสันดานกาจึงตั้งแสดงพร้อม ๆ กับที่เราเห็นกาบินว่อนไปมาบนหน้าหนังสือและเว็บข่าว สร้างความสลดหดหู่ในจิตใจของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่แม้ยังเข้าไม่ถึงแก่นพุทธธรรมแต่ก็มองเห็นกาเหล่านั้นชัดเจน

ป.ล. 1 ตามข่าวพระพม่าและการประท้วงเผด็จการทหารได้ที่ http://ko-htike.blogspot.com/ และ http://www.fringer.org/ และอ่านนิวัต กองเพียร พูดถึงความไม่รู้ของพระในเรื่องศิลปะได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=5928&catid=8
ป.ล. 2 ขอขอบคุณภาพจากเว็บข่าวมติชน

๔ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบทความที่ดีมาก อ่านแล้วประทับใจ

Joe Gotomore กล่าวว่า...

เห็นภาพนี้แล้วรู้สึกสลดหดหู่ อันดีหรือชั่วอยู่ที่บุคคลผู้นั้นกระทำ แต่สำคัญที่เราควรระวังกับสิ่งใดๆที่จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ดีกับพระภิกษุโดยรวม

Odysseus กล่าวว่า...

เราคงยังต้องการการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงในการกล้าที่จะขยายกรอบ หรือถึงขั้นแหกกรอบกันทางค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ปลูกฝังกันจนถึงขั้นเป็นระเบียบ กฏ ที่ไร้ลายลักษณ์อักษรแต่มีอิทธิพลรุนแรงต่้อผู้ที่คิดจะแตะต้อง หรือเปลี่ยนแปลง

และแน่นอนเราคงยังต้องการการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม ในการลดความเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ลืมคิดลืมวิเคราะห์จนถึงขั้นลืมความเป็นคนของคนที่คิดจะแหกกรอบความเชื่อ ที่ตัวเองเชื่อถือประดุจเทพเจ้าที่แตะต้องไม่ได้

เห็นทีความรู้ ความหมายทางด้านอัตตา อนัตตา ของพระพุทธศาสนาจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของใบเบิกทางการเก็บ certificate ที่เรียกว่าเปรียญธรรม ของผู้ชายที่ห่มผ่าเหลืองเสียแล้วกระมัง...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทุกอย่างล้วน มีเกิดย่ิอมมีดับ ทั้งสิ้น

มีเจริญย่อมมีเสื่อม

เป็นของที่เราห้ามไม่ได้

มองกันดีๆ จะเห็นว่าเป็นของชั่วคราวทั้งนั้น