วันพุธที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

วงเวียนบุคคโล

บ้านเก่าของผมอยู่บริเวณที่เรียกว่า สี่แยกบุคคโล ถ้าใครเคยวิ่งข้ามสะพานกรุงเทพมาทางฝั่งธนบุรีจะเห็นสี่แยกแรก สี่แยกนั้นคือสี่แยกบุคคโล แต่ถ้าใครขึ้นสะพานพระรามสาม ก็จะข้ามสี่แยกบุคคโลและสี่แยกมไหสวรรค์ไปลงถนนรัชดาภิเษก – ท่าพระ

ผมอยู่บริเวณสี่แยกนี้ตั้งแต่มันยังเป็นวงเวียนและมีสวนสาธารณะขนาดย่อม ๆ อยู่ รถที่วิ่งมาจากทั้งสี่ทิศรอบวงเวียนจะต้องวิ่งวนวงเวียนในแบบเดียวกับวงเวียนใหญ่และไปยังแยกที่ต้องการ แยกหนึ่งเป็นถนนเจริญนครซึ่งจะวิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังบริเวณที่เรียกว่าคลองสาน ผมนั่งรถวิ่งไปมาอยู่บนถนนเส้นนี้กว่า 13 ปีตลอดช่วงที่เรียนชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย แม้ในยามเรียนมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสนั่งรถวิ่งบนถนนเส้นนี้อยู่เป็นพัก ๆ ก่อนหน้านี้ผมค่อนข้างจะเชี่ยวชาญถนนเจริญนครเกือบทุกตารางเมตร แต่ตอนนี้ระยะเวลาทำให้ผมลืมเลือนมันไปเกือบหมด แต่เมื่อใดที่ได้นั่งรถผ่านถนนเส้นนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนึกย้อนถึงบ้านแต่ละหลัง หรือร้านแต่ละร้านที่ผ่านไป

แยกตรงกันข้ามกับถนนเจริญนครนั้น ก็เป็นเส้นเจริญนครเช่นกัน แต่เป็นเส้นเจริญนครปลาย ๆ ที่ยาวต่อเนื่องไปถึงบริเวณที่เรียกว่าดาวคะนองและราษฎร์บูรณะ

อีกสองแยกนั้น แยกหนึ่งขึ้นสะพานกรุงเทพไปในขณะที่อีกแยกนั้นเป็นถนนสายสั้น ๆ เรียกว่าถนนมไหสวรรค์ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังแยกมไหสวรรค์อีกทอดหนึ่ง ที่สำคัญที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานรับฝากครรภ์และทำคลอด และเป็นที่ที่ผมลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก

สถานรับฝากครรภ์นี้มีชื่อว่า ผดุงครรภ์ ตั้งอยู่ในแถบห้องแถวที่มีร้านค้าในลักษณะอื่น ๆ อีกเกือบสิบร้าน โดยสุดห้องแถวบริเวณใกล้หัวโค้งของถนนมไหสวรรค์ซึ่งเป็นนหนึ่งในสี่มุมของสี่แยกบุคคโลนั้นเป็นปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าลูกชายเจ้าของปั๊มนั้นบวชไม่สึกเสียที ฝ่ายแม่ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊มก็หาคนสืบทอดกิจการไม่ได้ เลยปั๊มมาบริเวณหัวมุมถนนเจริญนครตัดกับมไหสวรรค์ก็เป็นห้องแถวยาวไปจนเกือบถึงซอยที่สามารถเดินเข้าตลาดบุคคโลได้ บ้านผมก็เป็นร้านห้องแถวสองห้องอยู่ในชุดห้องแถวสุดท้ายนี้เอง

ด้านหลังของห้องแถวเป็นที่ดินของเถ้าแก่โรงหนัง สมัยนั้นโรงหนังยังไม่ได้เป็นเชน (Chain) โรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์แบบในปัจจุบัน ทำให้มีเถ้าแก่โรงหนังอยู่มากมาย ผมไม่เคยดูหนังในโรงของแกหรอกจึงไม่รู้ว่าแกเป็นเจ้าของโรงหนังที่ไหน รู้แค่ว่าภายหลังแกมาทำบ้านจัดสรรในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งภายหลังบ้านผมก็ถูกเวนคืน จึงไปซื้อห้องแถวของแกอยู่พักหนึ่งเช่นกัน

ที่ดินที่เป็นของเถ้าแก่โรงหนังนี้ เป็นพื้นที่โล่ง ๆ ที่มีหลังคาสังกะสีคลุมเกือบทั้งหมด ผมมักจะมองผ่านหน้าต่างห้องเก็บของด้านหลังของบ้านไปยังหลังคาสังกะสีและปั๊มน้ำมันที่อยู่ห่างออกไปอยู่บ่อยครั้ง มุมนี้เป็นมุมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กอย่างผม

สมัยที่ผมยังเป็นเด็กประถมนั้น บ้านหรือร้านของครอบครัวของผมเป็นร้านขายของหลากหลายตั้งแต่เครื่องเขียน, เครื่องไฟฟ้า, เครื่องสำอาง และเสื้อผ้า ในช่วงปีใหม่ก็จะขายของขวัญปีใหม่และรับห่อของขวัญ ช่วงปีใหม่และใกล้เปิดเทอมเป็นช่วงที่ร้านยุ่งมากที่สุด และพวกเราพี่น้องก็สนุกสนานกับการต้อนรับลูกค้าจำนวนมาก มากในระดับที่ถ้าใครเคยไปร้านขายของแถวสำเพ็งก็อาจจะพอนึกภาพออก พ่อและแม่ของผมมีพี่สาวสองสามคนเป็นลูกมือสำคัญในการช่วยขายของในช่วงปีใหม่ แม่และพี่สาวจะเป็นมือห่อของขวัญ ส่วนเด็กอย่างผมก็ทำอะไรก็อก ๆ แก็ก ๆ ไปตามเรื่อง ไม่ค่อยได้ช่วยงานอะไรมากมาย

ภายหลังที่บ้านขยายกิจการโดยเพิ่มการขายหนังสือพิมพ์, ขายน้ำดื่ม และการขายขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ จริง ๆ แล้วในยุคสมัยที่ร้านสะดวกซื้อยังไม่ทะลักเข้าสู่เมืองไทย เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าและร้านซุปเปอร์สโตร์ทั้งหลายยังไม่เกลื่อนเมือง ร้านที่บ้านถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะมาร์จินจากการขายสินค้าที่ค่อนข้างสูงทำให้ช่วงนั้นเงินทองหมุนเวียนมากในระดับที่ทำให้ฐานะที่บ้านดีขึ้นเช่นกัน การส่งน้องชายไปเรียนโรงเรียนฝรั่งราคาแพงอย่างอัสสัมชัญจึงไม่ใช่เรื่องยาก เช่นเดียวกับที่ผมในฐานะลูกชายคนโตมีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียวไม่ต้องกังวลกับภาระเรื่องที่บ้านมากมายนัก

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของที่บ้านเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีโครงการสร้างสะพานพระรามสาม ซึ่งส่งผลให้บ้านในบริเวณที่เสาค้ำรองสะพานตัดผ่านต้องถูกเวนคืน และที่บ้านก็ไม่พ้นแนวสะพานนี้

ห้องแถวที่ผมอยู่มาในสมัยเด็กนั้นเป็นของพวกเจ้า ซึ่งเก็บค่าเซ้งและค่าเช่าถูกมาก ๆ เพราะแถบพื้นที่บุคคโลยังไม่ใช่พื้นที่เก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างไร นอกจากนี้ถนนหนทางที่ยังไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงฟุตบาธที่ยังไม่ได้แบ่งแนวชัดเจนกับพื้นถนนเท่าไร ทำให้พื้นที่ดินบริเวณนี้ยังถูกมาก นอกจากนี้การโดนเวนคืนจากสะพานพระรามสามยังทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานไปแสวงโชคในพื้นที่ใหม่ ๆ ส่งผลให้ราคาที่ดินแถบนี้ไม่ได้ฉุดให้พุ่งสูงตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเป็นฟองสบู่ในยุคนั้น

เนื่องจากข่าวคราวการเวนคืนมาล่วงหน้าค่อนข้างนานมาก คือ ประมาณสองถึงสามปี ทำให้พวกเรามีเวลาที่จะปรับตัวและเตรียมตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นผมอยู่ในช่วงมัธยมต้นกำลังจะขึ้นมัธยมปลาย ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของการก้าวขึ้นมัธยมปลายอย่างหนึ่งคือการตัดสินใจว่า จะเรียนมัธยมปลายที่เดิมหรือไปลองวิชาที่สนามหิน ๆ อย่างเตรียมอุดมโดยที่ไม่รู้อนาคตว่าถ้าพลาดจากเตรียมอุดมแล้วจะต้องไปเรียนที่ไหน ซึ่งผมก็ตัดสินใจไม่ยากนักโดยการเลือกเรียนที่โรงเรียนเดิม สีสันในชีวิตของผมช่วงนั้นจึงเป็นเรื่องการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่แทน

พ่อและแม่เลือกที่จะซื้อห้องแถวสร้างใหม่โดยเถ้าแก่โรงหนังหลังบ้าน ซึ่งห้องแถวใหม่นี้ตั้งห่างออกไปจากบ้านเดิมประมาณ 250 – 300 เมตร ซึ่งถ้าเดินก็กินเวลาไม่ถึงห้านาทีดี บ้านใหม่เป็นห้องแถวเช่นกันแต่สูงถึง 3.25 ชั้นและมีขนาดหน้าบ้านกว้างกว่าบ้านห้องแถวทั่วไปโดยตั้งอยู่ในซอย ตัวบ้านหันหลังให้ถนนโดยมีห้องแถวอีกชุดหนึ่งตั้งหันหลังชนกันและด้านหน้าติดถนน ข้างบ้านทางซ้ายเป็นบ้านอยู่เฉย ๆ ส่วนทางขวาเป็นโกดังเก็บสินค้าของร้านขายเครื่องสุขภัณฑ์ที่มีหน้าร้านอยู่ติดถนน

เราใช้เวลาสองถึงสามปีที่รู้ข่าวล่วงหน้าในการขยายกิจการบางส่วนและพยายามผ่อนส่งบ้านใหม่แห่งนี้ เช่นเดียวกับที่บ้านใหม่ก็กำลังเร่งสร้างและใกล้เสร็จมากขึ้น ๆ ช่วงนั้นที่บ้านถือว่าต้องรับภาระกับการดาวน์บ้านและผ่อนบ้านด้วยเงินเก็บเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ นอกจากนี้แม่ยังวางแผนที่จะเปลี่ยนอาชีพจากการขายของหน้าร้านเป็นการซื้อจักรเย็บผ้าและรับคนงานมาเย็บผ้าแทน

บ้านใหม่แห่งนี้เป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบากมากพร้อม ๆ กับที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราอยู่บ้านใหม่หลังนี้ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะขายให้กับร้านสุขภัณฑ์ข้างบ้าน แม่นำเงินทั้งหมดมาซื้อบ้านใหม่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 27 ก่อนที่จะตัดสินใจหยุดพักการทำงานหลังจากที่เหนื่อยมาทั้งชีวิต

๓ ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมก็เคยอยูแถวนั้นในตลาดบุคคโล อยากได้รูปเก่าๆ ตอนนี้ผมอายุใกล้60ีแล้วครับ

Unknown กล่าวว่า...

ย่าผมเป็นคนบุคคโลชื่อย่าเพิ่ม อิ่มเอิบ ย่าผมน่าจะเกิดพ.ศ.2429-2431ผมประมาณจากอายุ มีญาติเป็นเจ้าของโรงสีข้าวอยู่ข้างสะพานกรุงเทพฯกับวัดบางน้ำชน ตอนปี2520ผมยังเห็นปล่องโรงสีร้างยังมีอยู่ อ้อปี2524ผมรู้จักน้าทิพ อิ่มเอิบ เคยเป็นกรรมการศึกษาที่ร.ร.วัดบุคคโล ผมเคยไปบ้านน้าทิพ เป็นบ้านไม้2ชั้น บ้านอยู่ติดกับตลาดบุคคโล มีที่ดินไปจนเกือบถึงทางเข้าวัดบุคคโล(ฝั่งตรงข้ามวัด) แต่ผมไม่ได้บอกน้าทิพว่า ย่าผมชื่อเพิ่ม อิ่มเอิบ ผมจำป้าอบเชย พี่แป๊ด พี่เหน่ง ลุงอั๋นอายุขณะนั้นประมาณ82ปีและอีกหลายๆคน ผมเคยอยู่ที่บุคคโล9-10ปี เจ้าของปั๊มน้ำมันที่บุคคโลน่าจะชื่อเจ๊น้อย อิงคนันต์นะ มีรถบาสจอดในปั๊ม ข้างรถเขียนว่า ยอดรัก สลักใจ และอีกคันจะเขียนว่า สายัณห์ สัญญา# เข้าใจว่าเป็นโปรดิวเชอร์ให้ยอดรัก กับสายัณห์#

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขาเรียกบุคคโลผดุงครรภ์ บ้านผมอยู่ข้างๆสะพานกรุงเทพใกล้วงเวียนบุคคโล สมัยนั้นสะพานกรุงเทะเปิดหลายเวลา 6โมงเข้า 10โมง บ่าย2 และน่าจะ5โมงเย็น จำได้ช่วงสะพานเปิด ผมหิ้วกระติกไอติมสะพายบ่า เดินขาย ตั้งแต่ ตีนสะพานถึงกลางสะพานที่เปิด ขายดีมาก ไอติมหมดกระติก
อีกทั้งวันหวยออก ก็วิ่งขายเรียงเบอร์ช่วงที่สะพานเปิดนี่ละ ในวงเวียนบุคคโลมีน้ำพุ กินรี4ด้าน
สวนหย่อม นั่งนอนเล่น เล่นซ่อมแอบกัน
ส่วน ปั้มน้ำมัน น่าจะเป็นหลวงพี่พรชัย ทุกวันนี้ยังครองเพศบรรพชิตอยู่ ที่วัดบางน้ำชน
และที่ปั้มแห่งนี้ก็คือ ก็คือต้นกำเนิดสายัณ สัญญา ด้วย เรื่องมันยาวมากเล่าไม่หมด ตอนเย็นๆเราเตะฟุตบอล ในลานตากข้าว หรือโรงสี เตะเสร็จ ก็โดดน้ำเจ้าพระยา หรือยางครั้งเราก็ขึ้นไปบนสะพานกรุงเทพ เหยียบราวสะพานแล้วเราก็โดดลงมาแม่น้ำ เทศกาลกินเจ ก็มี โนงเจ ติดกับสะพานกรุงเทพ คนขายของเยอะ และโรงเจก็ให้ทานหรี
ด้วย เล่าไม่หมดมันเยอะมาก เอาเท่านี้ก่อนหอมปากหอมคอ