วันพุธที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การจากไปของร้านหนังสือแห่งหนึ่งบนถนนสีลม

แล้วร้านบุ๊กกาซีน ณ au bon pain หัวถนนสีลมก็ไม่สามารถรอดพ้นแรงบีบคั้นของระบบทุนนิยมไปได้ พวกเขาต้องปิดตัวลง และรายใหม่ ๆ ก็พร้อมจะเข้ามาเสียบแทนอยู่ตลอดเวลา

ทุกครั้งที่ผมเห็นร้านหนังสือไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องปิดตัวลงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลร้อยแปดประการใดก็ตาม ผมรู้สึกใจหายและไม่อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้น แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องไกลตัวอย่างร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่เคยอยู่ที่หัวโค้งถนนพระอาทิตย์ที่ต้องปิดตัวลงไปก่อนที่จะมีร้านหนังสือเดินทางเข้ามาแทนที่นั้น ผมก็รู้สึกใจหายแม้เพียงได้ข่าวมาแว่ว ๆ แต่อย่างน้อยผมก็เคยแวะเข้าร้านหนังสือเล็ก ๆ ก่อนที่มันจะปิดตัวลงไปเช่นกัน และวงการหนังสือก็คงจะไม่โชคดีทุกครั้งอย่างร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่มีร้านหนังสือเดินทางที่เทียบมวยแล้วไม่ต่างกันนัก โดยสามารถมาแทนที่ความสูญเสียในใจของหนอนหนังสือได้ในระดับเดียวกัน

ร้านบุ๊กกาซีนแห่งนี้เป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในร้าน au bon pain ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ตรงข้ามห้างโรบินสันสีลมและติดกับทางเข้าโรงแรมดุสิตธานีด้านถนนสีลม โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ของตึกที่มีชื่อว่า ซิลลิค เฮ้าส์

ผมไม่แน่ใจว่าทำไมร้านบุ๊กกาซีนแห่งนี้ต้องมาเปิดในร้าน au bon pain ด้วยทั้ง ๆ ที่ร้านบุ๊กกาซีนมีสาขาอีกอย่างน้อยสองแห่งเท่าที่ผมพอจะรู้จักและตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันบนถนนสีลม คือ บนชั้นสองของห้างสีลมคอมเพล็กซ์และชั้นล่างของตึกซีพีทาวเวอร์ ซึ่งถ้านับก้าวเดินแล้วก็ห่างกันไม่เกินระยะหนึ่งร้อยก้าว หรือร้านบุ๊กกาซีนอาจจะต้องการใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกับที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นประยุกต์กลยุทธ์ของโกะมาใช้ก็เป็นได้ โดยเลือกที่จะล้อมคนสีลมให้อยู่ในวงรอบของร้านทั้งสามสาขาแห่งนี้

จริง ๆ แล้วร้านบุ๊กกาซีนสาขานี้ถ้าวิเคราะห์จากที่ตั้งจริง ๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่เป็นลูกค้าของร้าน au bon pain เสียมากกว่า ในขณะที่ลูกค้าส่วนน้อยจะเป็นคนที่มีความตั้งใจที่จะเข้าไปเลือกดูและซื้อหนังสือจริง ๆ โดยอาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าโดยตรงของ au bon pain หรืออาจจะเป็นลูกค้าของทั้งสองร้านเลยก็ได้ ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่หลายต่อหลายครั้งเลือกที่จะเดินเข้าร้าน au bon pain สาขานี้โดยไม่สนใจที่จะซื้อหาอะไรกินและเดินผ่านเคาน์เตอร์เข้าสู่ร้านบุ๊กกาซีนเลย อีกประเด็นที่น่าคิดก็คือสินค้าที่ขายในร้านบุ๊กกาซีนสาขานี้ส่วนหนึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนหรือรายสัปดาห์ของทั้งไทยและเทศ และส่วนใหญ่เป็นหนังสือต่างประเทศเป็นหลักเหมือนกับบุ๊กกาซีนสาขาอื่นที่ขึ้นชื่อในการขายหนังสือต่างประเทศอยู่แล้ว ในเมื่อสินค้าส่วนใหญ่เป็นหนังสือต่างประเทศก็ยิ่งเป็นการจำกัดกลุ่มของลูกค้าให้แคบลงไปอีกโดยเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างประเทศ กับคนไทยที่นิยมอ่านหนังสือหัวนอกและพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อ ซึ่งคนทำงานธรรมดาอย่างผมและคนอีกหลาย ๆ คนถ้าตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่มหนึ่งจากร้านบุ๊กกาซีนก็ต้องซื้อในแบบที่เรียกว่า กัดฟันซื้อกันเลยทีเดียว ซึ่งผมก็ยอมรับตรง ๆ ว่าผมเดินเข้าเดินออกร้านบุ๊กกาซีนสาขานี้ไม่ต่ำกว่า 20 – 30 ครั้งตลอดกว่า 6 เดือนที่ผ่านมาโดยมีหนังสือติดมือไปเพียงสองครั้งเท่านั้นโดยครั้งหนึ่งก็เป็นนิตยสารไทยราคาต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท และอีกครั้งหนึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสินค้าหลักของบุ๊กกาซีนโดยเป็นผลงานล่าสุดของ การ์เบียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งผมกัดฟันซื้อเพราะอดใจไม่ไหวจริง ๆ

ที่สำคัญเมื่อบุ๊กกาซีนมาตั้งอยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานครของประเทศที่มีคนอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยไม่กี่บรรทัดต่อปี แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีหลังก็ตาม ก็ทำให้การหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำอาจจะต้องคิดทบทวนกันหลายตลบ

จากสองประเด็นนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า บุ๊กกาซีนต้องอาศัยลูกค้าของ au bon pain ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศเป็นหลักเพื่อจะขายสินค้าของตนให้ได้ แน่นอนว่าการตั้งร้านมาได้นานพอสมควรถ้าทุนไม่หนาจริง ๆ ก็คงต้องเก็บหนังสือหนังหาไปขายที่อื่นนานแล้ว เมื่อถึงวาระหมดสัญญา การตัดสินใจปิดร้านจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเมื่อมองในเรื่องของต้นทุน – กำไรที่เป็นหลักการพื้นฐานของการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ผมเห็นร้านหนังสือปิดไป ไม่นานนักก็จะเห็นร้านใหม่ ๆ เปิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะบนถนนสีลมที่ดูเหมือนจะเป็นสนามปราบเซียนของวงการหนังสือ ก่อนหน้านี้มีร้านดอกหญ้าที่ตั้งมาอย่างยาวนานโดยเป็นร้านดอกหญ้าซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกแถวใกล้ ๆ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนเยื้อง ๆ กับธนาคารกรุงเทพสาขาใหญ่ ร้านดอกหญ้าสาขานี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้งพร้อม ๆ กับการล้มลุกคลุกคลานหลายหนของบริษัทแม่เอง สุดท้ายเราก็เสียร้านดอกหญ้าไป

หลายปีก่อนร้านนายอินทร์เคยมาลองสนามในยุครุ่งเรืองของร้านนายอินทร์ ซึ่งนายอินทร์ก็มีอายุสั้นมากบนถนนสีลมและปิดตัวไปแบบไม่ทันได้สังเกต

แต่ร้านหนังสืออีกหลาย ๆ ร้านที่ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าหรือเป็นห้องเช่าบนตึกต่าง ๆ ก็ดูจะอยู่ได้ค่อนข้างยั่งยืนมากกว่าสิบปี ไม่ว่าจะเป็นร้านซีเอ็ดบนสีลมคอมเพล็กซ์, ร้านเอเชียบุ๊กบนตึกธนิยะพลาซ่า รวมถึงร้านอย่าง B2S บนสีลมคอมเพล็กซ์และโรบินสันสีลมที่คงจะมีอายุยืนมากกว่าสิบปีเป็นแน่แท้

ผมรู้สึกดีใจที่ล่าสุดนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเปิดเผยคาดการณ์ว่า วงการหนังสือไทยยังคงมียอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีกลาย และคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการเติบโตในระดับไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ได้ แม้เราจะเห็นว่า ในช่วงหลายปีหลังสำนักพิมพ์ขายหนังสือส่วนใหญ่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือปีละสองหนเท่านั้น แต่ลมหายใจอ่อน ๆ ของวงการหนังสือไทยก็ยังไม่ถึงกับขาดหายไปเลยโดยอัตราการเติบโตของสำนักพิมพ์และจำนวนหนังสือออกใหม่ต่อปีที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันก็ทำให้เรายังคงพอจะมองเห็นอนาคตของวงการหนังสือไทยที่จะไม่ล้มหายตายจากไปแน่ แม้เมื่อเทียบกับตลาดหนังสือใหญ่ ๆ ของโลกอย่างเยอรมัน, สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แล้วเรายังห่างชั้นมากก็ตาม

ผมยังไม่รู้ว่าร้านอะไรจะมาแทนที่ร้านบุ๊กกาซีนในพื้นที่ของร้าน au bon pain แต่เดาได้ว่าคงจะไม่ใช่ร้านอาหารเป็นแน่เมื่อมองในเรื่องตรรกะทางการค้า ซึ่งร้านอย่าง au bon pain กับร้านหนังสือเป็นอะไรที่ค่อนข้างลงตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะหาใครที่พร้อมจะเสี่ยงอีกครั้งบนถนนหนังสืออย่างสีลมอีกราย

๓ ความคิดเห็น:

Odysseus กล่าวว่า...

และแล้วใบไม้กระดาษหนึ่งใบ ก็ไม่สามารถทนกระแสลมหนาวทุนนิยมได้

หวังว่าถึงฤดูฝนคงจะมีใบไม้ใหม่งอกออกมารับน้ำ ให้ได้เชยชมกัน
ปล.สาวสวยที่พี่เฝ้ามองอยู่ตลอดหกเดือนที่ผ่านมาได้จากไปแล้วหรือเนี่ย ;-)...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นี่คือเรื่อง you got mail version ถ.สีลมหรือนี่

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

HOngYock

Version ใหม่จะเป็น Au Bon Pan ที่หายไป
หรือป่าว ใครจารู้